กยท.พลิกวิกฤติ ดันสินค้ายางพาราไทยปลอดทำลายป่า ชูเป็นจุดแข็งขายทั่วโลก
กยท.พลิกวิกฤติ ดันสินค้ายางพาราไทยปลอดทำลายป่า ชูเป็นจุดแข็งขายทั่วโลก
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงมาตรการกฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) เป็นกฎหมายที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่สหภาพยุโรป (อียู) เพียงอย่างเดียว เรียกว่า ทั้งโลก กำลังให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แต่อียูได้ริเริ่มแล้วผลักดันให้เป็นรูปธรรมแล้ว โดยการออกกฎหมายสินค้าปลอดจากการบุกรุกป่าและทำลายป่า ซึ่งเราเรียกว่า “EUDR”
“ในส่วนของอียูเองพยายามบอกเราว่า วันนี้จะจำกัดควบคุมการนำเข้าและการส่งออกสินค้าที่มาจากการบุกรุกป่าและทำลายป่า ซึ่งประเทศไทยเองก็เห็นด้วยกับนโยบายนี้ และได้ขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยหลักนโยบายนี้มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1 ต้องพยายามแสดงพื้นที่ภูมิศาสตร์ว่าผลผลิตเหล่านั้นไม่ได้มาจากการบุกรุกป่า หรือมีการทำลายป่า รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย 2 การดำเนินการจะต้องสอดคล้องกับตัวของกฎหมายแต่ละประเทศ และสุดท้ายก็ต้องทำตามของกระบวนการของอียูถึงจะสามารถดำเนินการส่งออกและนำเข้าในส่วนของยุโรปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายณกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของประเทศไทย มีความพร้อม และมีความได้เปรียบกว่าประเทศผู้ผลิตยางอื่น เพราะประเทศไทยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางที่แจ้งข้อมูลการปลูกยางและพื้นที่สวนยางกับ กยท. อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในรัฐบาลที่ผ่านมาเราได้มีนโยบายต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรทำให้ต้องมีการอัพเดทข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งก็มองว่าวันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมกับการรองรับมาตรการนี้จะเห็นได้ว่าหลายมาตรการที่ออกมาจะให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก รวมทั้งในเรื่องการบริหารจัดการการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นนโยบายสำคัญและได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“วันนี้ กยท. มีข้อมูลอยู่แล้วว่าพื้นที่หรือผลผลิตอยู่ในพื้นที่ถูกกฎหมายเท่าไร และพื้นที่ที่จะต้องมีการปรับปรุงดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกประมาณเท่าไร ซึ่งตรงนี้เราพยายามเอาข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อสามารถจำแนกข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ ผมถือโอกาสอยากเชิญชวนเกษตรกรชาวสวนยางมาขึ้นทะเบียนให้ครบ เราจะสามารถเอาข้อมูลที่ปลูกยางต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ในเรื่องการปรับปรุงสิทธิและสวัสดิการที่จะใช้ในการดูแลพี่น้องเกษตรกรได้มากขึ้น และก็ใช้ในการวางแผนการผลิต การจัดการข้อมูลของสถาบันเกษตรกรได้มากขึ้น และในโอกาสเดียวกัน สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ยังมีปัญหาเอกสารสิทธิที่ดิน ถ้าเรารวบรวมข้อมูลครบถ้วน เราจะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงข้อมูลของพี่น้องเกษตรกรและอาจจะออกมาตรการช่วยเหลือในเรื่องนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น”
นายณกรณ์ กล่าวว่า ส่วนในเรื่องภาษีที่ดินในพื้นที่สวนยางตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 ที่มีการกำหนดขึ้นต่ำของการเสียภาษีเกษตรกรรมจะต้องมีสวนยางอยู่ 80 ต้น/ไร่ ทาง กยท. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะบริบทในการทำสวนยางเปลี่ยนไปแล้ว อยากให้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการปัจจุบันของเกษตรกรด้วย
แต่เดิมที่บอกว่า 80 ต้น/ไร่ อาจจะเป็นการทำสวนยางเชิงเดี่ยว แต่วันนี้พี่น้องชาวสวนยางสวนใหญ่ทำสวนยางแบบผสมผสาน แบบสวนยางยั่งยืน มีการปลูกยางผสมกับพืชอื่น จึงลดจำนวนการปลูกต้นยางต่อไร่ลง เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านรายได้จากราคายางที่ผันผวน มีรายได้เสริมจากพืชอื่น ให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่ายของชาวสวนยาง
นอกจากนี้ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพาราในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสส.) และกรมวิชาการเกษตร (กวก.) ได้มีแนวทางร่วมกันที่จะเสนอให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีที่ดิน พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ของยางพาราที่ 25 ต้น/ไร่
“ผมฝากไปถึงพี่น้องเกษตรกรหลายเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับยางพารา กยท. ให้ความสำคัญในทุกมิติ โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการ EUDR จะต้องทำสวนยางที่ไม่ทำลายป่า ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในเรื่องการวางแผนและการปรับปรุงการจัดการสวนยางต่างๆ ของประเทศไทย รวมถึงเป็นโอกาสในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยอีกด้วย” นายณกรณ์ กล่าวในตอนท้าย