“กรมชลประทาน” บริหารน้ำ EEC รับมือสภาพอากาศเปลี่ยน
อีกปัญหาที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน คือ น้ำ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการผันน้ำ การขุดลอก ขยายคลองสนับสนุนเอกชนมีพื้นที่เก็บน้ำ เพื่อประกันว่าถึงปี 2570 มีน้ำเพียงพอ แต่จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปทำให้กรมชลประทานปรับบางแผนให้เร็วขึ้น
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภาวะเอลนีโญทำให้หลายฝ่ายกังวลปริมาณน้ำใน EEC จะไม่เพียงพอความต้องการ ซึ่งปลายฤดูฝนปี 2566 มีน้ำไหลลงอ่างจำนวนมากทำให้ภาพรวมปริมาณน้ำใน EEC ขณะนี้มีปริมาณ 563.13 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 75.23% ของความจุเก็บกัก ซึ่งเพียงพอความต้องการตลอดฤดูแล้งปี 2566/67 โดยการบริหารจัดการน้ำจะจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะเอลนีโญยังมีอยู่จึงต้องเฝ้าระวังใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ในขณะที่กรมชลประทานกำลังปรับแผนใหญ่ 20 ปี ให้สอดคล้องสถานการณ์ โดยบางแผนอาจต้องดำเนินการให้เร็วขึ้น
“ตามแผนกำหนดให้มีน้ำพอความต้องการในปี 2570 ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะโครงการที่กำลังดำเนินการจะรองรับได้ แต่หลังปี 2570 ต้องทบทวนและเร่งบางโครงการให้เสร็จตามแผนหรือเร็วกว่าแผน รวมทั้งต้องเร่งแผนน้ำรองรับหลังปี 2570 ให้ชัดและทำให้เร็วขึ้น เพราะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนของสภาพอากาศ“
นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน กล่าวว่า ความก้าวหน้าของการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนา EEC จำนวน 38 โครงการ จากการศึกษาแผนหลักการพัฒนา จากการศึกษาแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ระยะ 20 ปี (2560-2580) พบว่า ปี 2560 ใน EEC มีน้ำต้นทุน 2,539 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ความต้องการใช้น้ำรวมทุกประเภทอยู่ที่ 2,419 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยปี 2570 ต้องการใช้น้ำจะเพิ่มเป็น 2,888 ล้าน ลบ.มต่อปี และ ปี 2580 คาดว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มเป็น 3,089 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี คิดเป็นความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เป็นปริมาณ 670 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ดังนั้นจึงมีโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับ EEC (2563- 2580) รวม 38 โครงการ งบประมาณ 55,805 ล้านบาท จะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 872.66 ล้าน ลบ.ม. ดังนี้
ความก้าวหน้าในปัจจุบัน ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว 22 โครงการ จะเสร็จตามแผนปี 2569 มีปริมาณน้ำก็บกักเพิ่ม 318 ล้าน ลบ.ม. น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เท่ากับ 2,857 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 98.92 % ของความต้องการใช้น้ำปี 2570
ดำเนินการแล้วเสร็จ 17 โครงการ ได้น้ำเพิ่มขึ้น 258.59 ล้าน ลบ.ม. เช่น สระทับมา จ.ระยอง เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง จ.ชลบุรีและระยอง
อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ จะเสร็จภายในปี 2569 ได้น้ำเพิ่มขึ้น 59.20 ล้าน ลบ.ม. เช่น อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ปรับปรุงขยายระบบประปา กปภ. จ.ชลบุรีและระยอง อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน และอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง
โครงการที่ต้องขับเคลื่อน 16 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573 ได้น้ำเพิ่มขึ้น 554.87 ล้าน ลบ.ม เช่น กลุ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มน้ำต้นทุนอ่างประแสร์ จ.ระยอง และ อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี จำนวน 7 โครงการ ได้น้ำเพิ่ม 195 ล้าน ลบ.ม.
กลุ่มโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 2 โครงการ ได้น้ำเพิ่ม 66 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ อุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง-อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ. ฉะเชิงเทรา
สำหรับโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนใน EEC จำนวน 7 โครงการ ได้น้ำเพิ่ม 293.87 ล้าน ลบ.ม.ให้ความสำคัญกับการเกษตร อุปโภคบริโภค และยังเป็นน้ำต้นทุนที่่เพิ่มความสามารถการผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งกรมชลประทานดำเนินการเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง