กลุ่ม ปตท. เปิดโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ พร้อมดันไทยก้าวสู่ Medical Hub
กลุ่ม ปตท. เปิดโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (non-woven fabric) ของ "อินโนโพลีเมด" ผลิตวัตถุดิบสำหรับวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ลดพึ่งพาการนำเข้า ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ – ดันไทยก้าวสู่ Medical Hub
7 ตุลาคม 2565 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (ไออาร์พีซี) และดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (อินโนบิก) ร่วมในพิธีเปิด โรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (non-woven fabric) ได้แก่ ผ้าเมลต์โบลน (M) ผ้าสปันบอนด์ (S) และผ้าไม่ถักไม่ทอแบบหลายชั้น (SS, SMS, SMMS) ของ "บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด" (อินโนโพลีเมด) กำลังการผลิตประมาณ 5,600 ตันต่อปี ณ เขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จังหวัดระยอง เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565
อินโนโพลีเมด ใช้เม็ดพลาสติกพีพี (โพลิโพรพิลีน) ที่ปราศจากสารพาทาเลต (Phthalate) คิดค้นวิจัยพัฒนาและผลิตโดย ไออาร์พีซี ในการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ จึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ ผ้าเมลต์โบลน มีลักษณะเป็นเส้นใยขนาดเล็ก มีความละเอียดในระดับนาโนเมตรถึงไมโครเมตร ทำให้มีประสิทธิภาพในการกรองสูง ในขณะที่ผ้าสปันบอนด์ และผ้าไม่ถักไม่ทอแบบหลายชั้น มีความแข็งแรงสูง ป้องกันของเหลว และเชื้อโรค เหมาะสำหรับนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ได้แก่ หน้ากากอนามัย ชุดกาวน์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่างๆ เป็นต้น
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ได้ร่วมทุนก่อตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ของ กลุ่ม ปตท. โดยโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอนี้ เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ด้านธุรกิจปิโตรเคมี และชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุด PPE และชุดกาวน์ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งหมด และเป็นการต่อยอดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์โดยคนไทย ลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ New S-Curve ทางด้านการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ของไทย