สมาคมเพื่อนชุมชน เดินหน้าโครงการธรรมศาสตร์โมเดล รุ่น 8
สมาคมเพื่อนชุมชน เดินหน้าโครงการธรรมศาสตร์โมเดล รุ่น 8
มุ่งยกระดับ-เพิ่ม เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
สร้างเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน
สมาคมเพื่อนชุมชนจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินหน้าสานต่อโครงการ “สมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 8 ในปี 2566 คัดเลือก 7 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ เพิ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ชูจุดแข็งโมเดลพี่เลี้ยง โดยมีอาจารย์ นักศึกษา และสมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมทำวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำไปสู่การยกระดับศักยภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นายมงคล เฮงโรจนโสภณ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เผยว่า “สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) โครงการ “สมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยการยกระดับศักยภาพวิสาหกิจชุมชนตามแนวทางธรรมศาสตร์โมเดล ได้ดำเนินความร่วมมือตั้งแต่ รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เป็นรุ่นที่ 8 รวมทั้งสิ้น 58 กลุ่ม เกิดเป็นเครือข่ายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์มาเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีสมาคมเพื่อนชุมชน อาจารย์ และนักศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นพี่เลี้ยง ขับเคลื่อนผ่านการทำวิจัย การจัดกิจกรรมฝึกอบรม การถ่ายทอดองค์ความรู้และไอเดียความคิดสร้างสรรค์ การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพสินค้า การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ การวิเคราะห์ต้นทุน ตลอดจนการเพิ่มโอกาสทางการตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย นับเป็นความสำเร็จของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ช่วยสร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง”
นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับรองคุณภาพสินค้าในระดับต่าง ๆ ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ การรับรองมาตรฐาน อย. เป็นต้น ซึ่งเป็นการันตีคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการขยายเครือข่ายชุมชนส่วนราชการท้องถิ่น ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม รวมถึงชุมชนต้นแบบ ที่ผ่านการฝึกอบรมในรุ่นต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นพี่เลี้ยง และช่วยกันขับเคลื่อนโครงการให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในปี 2566 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย
1) บริษัท วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก จำกัด เทศบาลเมืองมาบตาพุด
2) วิสาหกิจชุมชนเพื่อการใช้ประโยชน์ทางชีวภาพมาบตาพุด เทศบาลเมืองมาบตาพุด
3) วิสาหกิจชุมชนบ้านเขาไผ่ เทศบาลตำบลทับมา
4) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองมะหาด เทศบาลตำบลทับมา
5) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรแปรรูปภูลำไยบ้านฉาง เทศบาลเมืองบ้านฉาง
6) วิสาหกิจชุมชนบ้านสาย 9 - หนองกวาง เทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา
7) วิสาหกิจชุมชนเทพประสิทธิ์ฟาร์ม เทศบาลตำบลเนินพระ
ตัวอย่างความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ชุมชนเกาะกก ในนามบริษัทวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก จำกัด จากเดิมเป็นศูนย์รวมสินค้าวิสาหกิจชุมชน เปลี่ยนเป็นศูนย์รวมการจัดการและกระจายสินค้าจากหลายชุมชน เสริมจุดเด่นด้านนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการจัดการ คือ สร้างเว็บไซต์และระบบการลงบัญชี การใช้แถบบาร์โค้ดเพื่อให้สะดวกในการจัดการคลังสินค้า ส่งผลให้มีระบบการจัดการสินค้าที่แม่นยำและสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขาไผ่ ก่อนหน้านี้ มีปัญหาเรื่องเศษลอดช่องเหลือทิ้ง ทำให้เกิดขยะเศษอาหารเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการแก้ไขจุดอ่อน และเสริมจุดแข็งด้วยการปรับบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ พร้อมเสริมนวัตกรรมด้านการผลิตโดยทำการนำเศษลอดช่องมาพัฒนาดัดแปลงเป็นไอศกรีมลอดช่อง และเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนบ้านเขาไผ่มียอดขายเพิ่มขึ้น ส่วนวิสาหกิจชุมชนเทพประสิทธิ์ฟาร์ม สมาชิกทุกคนได้รับการอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้จากพี่เลี้ยง ภายหลังจึงสามารถปรับปรุงตราสินค้าและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์โดยพัฒนาสินค้าเป็นข้าวโพดอบกรอบ ทางเลือกใหม่สำหรับผู้รักสุขภาพ ตอบเทรนด์และความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
โครงการ “สมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” ที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาสู่รุ่นที่ 8 สะท้อนความสำเร็จของพลังความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ขับเคลื่อนผ่านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพิ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ สอดรับกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจ BCG โมเดล ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน