กรมวิชาการเกษตร ลุยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ พลิกโฉมการผลิตสับปะรดไทย

กรมวิชาการเกษตร ลุยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ พลิกโฉมการผลิตสับปะรดไทย

กรมวิชาการเกษตร ลุยใช้เทคโนโลยีในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะจำนวนทั้งหมด 4 เทคโนโลยี พลิกโฉมการผลิตสับปะรดไทย

"สับปะรด" เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญได้แก่ สับปะรดกระป๋อง และน้ำสัปปะรด มีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง สร้างรายได้ 23,000-25,000 ล้านบาทต่อปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามการผลิตสับปะรดผลสดมักเกิดปัญหาด้านคุณภาพผลผลิตไม่สม่ำเสมอ คุณภาพผลผลิตในแต่ละฤดูกาลแตกต่างกัน และอายุการเก็บรักษาสั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาการผลิตหรือปรับตัวให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น

กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการโครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการผลิตสับปะรดผลสด ณ แปลงเรียนรู้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ภายใต้โครงการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะที่สถาบันวิจัยพืชสวน สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ดำเนินการร่วมกันในปีงบประมาณ 2566-2567 เพื่อสร้างแปลงต้นแบบ (Model) ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 ที่เกิดจากผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการน้ำ ปุ๋ย และเครื่องจักรกลเกษตรสำหรับผลิตสับปะรดผลสด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตสับปะรดผลสดคุณภาพสู่เกษตรกร 

สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะมีจำนวนทั้งหมด 4 เทคโนโลยี ได้แก่  

  1. เซนเซอร์วัดน้ำฝนอัจฉริยะ เพื่อควบคุมการให้น้ำพืชอัตโนมัติ โดยใช้ถังวัดน้ำฝนหักล้างกับการระเหยสะสม ซึ่งจะมีเซนเซอร์วัดน้ำในถังว่าแห้งหรือไม่ ถ้าน้ำในถังวัดน้ำฝนแห้ง สมองกลฝังตัวจะสั่งให้น้ำตามปกติ แต่ถ้าในถังวัดน้ำฝนมีน้ำสมองกลก็จะสั่งงดให้น้ำ โดยเลือกใช้สมองกลฝังตัว Arduino และเขียนโปรแกรมควบคุมด้วยภาษาแบบกราฟฟิก ทำให้ง่ายต่อเกษตรกรในการพัฒนาต่อยอด 
  2. เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เพื่อการสํารวจและติดตามการเจริญเติบโตของสับปะรด โดยดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด ในการบินสำรวจแปลงสับปะรดเพื่อติดตามการเจริญเติบโต และการเป็นโรคเหี่ยวสับปะรด ไม่ทำให้เกิดความสูญเสียผลผลิตถึงระดับเศรษฐกิจโดยวางแผนกำหนดการบินโดรนตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของพืช เริ่มตั้งแต่หลังปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จนถึงก่อนเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน 2567
  3. การให้น้ำและปุ๋ยตามความต้องการของสับปะรด โดยการคำนวณหาปริมาณการใช้น้ำของพืชจริง การให้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน
  4. การปรับระบบการปลูกเพื่อใช้เครื่องจักรกลเกษตร โดยวางผังปลูกใหม่ตามแนวยาวเพื่อใช้เครื่องจักรกลเกษตร มีถนนรอบแปลง และแบ่งแปลงการปลูก หน้ากว้าง 12 เมตร เพื่อให้ใช้เครื่องจักรกลแบบมีแขนยื่นขนาด 6 เมตร ได้ เช่น เครื่องพ่นสารชนิดแขนพ่นเพื่อจัดการวัชพืช โรคแมลง และให้ปุ๋ยในแปลงสับปะรด ล่าสุดได้พัฒนาเครื่องลำเลียงผลสับปะรดติดรถแทรกเตอร์ มีความสามารถการทำงานเฉลี่ย 2.10 ไร่ต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าการใช้แรงงานคนเก็บผลสับปะรด 2.6 เท่า