ปรับความคิด..ชีวิตในยุค 'โลกร้อน' กับ 'ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์'
เปิดมุมคิด "ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" กับปัญหาโลกเดือดที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แนะคนรุ่นใหม่ควรปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตในยุคโลกร้อน
"เกิดมาผมไม่เคยเจออุณหภูมิที่ร้อนขนาดนี้ ไม่เคยเห็นปะการังตายขนาดนี้ ปีที่แล้วว่าเลวร้าย ปีนี้ร้ายยิ่งกว่า ปีหน้าอาจจะร้ายกว่านี้อีก" ประโยคเปิดการสนทนาของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมแนวหน้าของประเทศ ผู้เป็นการเปิดบทสนทนาถึงความรุนแรงของปัญหา โลกเดือด ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมออกตัวว่าไม่ได้ขู่ "เพราะอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง" นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญในยุค โลกร้อน และอาจลากยาวไปอีก 30 - 40 ปีข้างหน้า
ถ้าพูดถึงคนรักทะเล คงไม่มีใครยืนหนึ่งให้นึกถึงเท่ากับ "ผศ.ดร.ธรณ์" นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ชนิดที่ว่าออกทะเลนับครั้งไม่ถ้วนทั้งทั่วไทยทั่วโลก ความที่เป็นคนชอบเขียน เขาจึงมีบทความมากมาย เพื่อสื่อสารบอกเล่าในสิ่งที่ตนเองทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเล ผ่านหลายช่องทาง รวมถึงเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามอยู่ในสถานะ "เพื่อนธรณ์" ราว 2.32 แสนคน และยังมีผู้ติดตามอ่านบทความในซีรีส์ "The Road to Decarbonization ในฐานะคอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ Carbon Markets Club คลับรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจกแห่งแรกของประเทศไทย เป็นประจำทุกเดือน
ตลอดเวลาที่ทำงานด้านนี้มา "ผศ.ดร.ธรณ์" หรือ "อาจารย์ธรณ์ ไม่เพียงเป็นกระบอกเสียงในการอนุรักษ์ ทะเลไทย แต่ยังส่งสัญญาณเตือนอยู่เสมอถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า "หากคุณไม่คิดจะดูแลทะเล ไม่คิดจะดูแลโลก ไม่คิดจะดูแลก๊าซเรือนกระจก ต่อไปคุณก็จะเดือดร้อน"
ผศ.ดร.ธรณ์ ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ทะลมากกว่านั่งอยู่ในห้องแอร์ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เล่าว่า เมื่อ 40 กว่าปีก่อน อุณหภูมิอยู่ประมาณ 28-29 องศา แต่ปัจจุบันหากวัดผิวน้ำหาดทรายบริเวณหญ้าทะเล ณ ทะเล อ่าวไทย สูงถึง 40 องศาฯ ซึ่งปกติทั่วไปเป็นอุณภูมิปกติของบ่อออนเซ็น!
"แค่คุณออกไปอยู่ทะเลจริงๆ จะเห็นภาพความเป็นจริง และสิ่งที่เห็นชัดสุดคือปะการังฟอกขาว 99% แม้ที่ผ่านมาจะมีการออกกฎหมาย มาตรการต่างๆ แต่ทว่าไม่สามารถหยุดโลกร้อนได้ ขนาดปะการังที่เป็น สัตว์คุ้มครอง พะยูนซึ่งเป็นสัตว์สงวน ยังตายเกลื่อน จับใครไม่ได้ ด้วยเหตุผลคนบนโลก 7 พันล้านคน"
โลกร้อน...จะไปจับใคร?
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า วิธีการจัดการในอดีตล้มเหลว แต่ไม่ใช่ว่าระบบไม่ดี เพียงแต่โลกเปลี่ยนไป จาากนี้ไปอีก 30 - 40 ปี โลกก็จะไม่เย็นกว่านี้แน่นอน มีแต่จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การเดา เนื่องจาก ก๊าซเรือนกระจก ที่สะสมอยู่ข้างบน มีเพียงพอที่จะทำให้โลกร้อนต่อเนื่องไปอีก 30 ปี
ด้วยสภาพอากาศร้อนสุดขั้วที่ทุกคนกำลังเผชิญ นำพาไปสู่ภาวะวิกฤติฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ทั่วโลก มีสาเหตุหลักจากอากาศที่ยิ่งร้อน ทะเลก็ยิ่งร้อน (เดือด) ขึ้น ทำให้น้ำระเหยมากขึ้น อากาศร้อนจุไอน้ำได้มากขึ้น เมฆจึงมีไอน้ำหนาแน่น เมื่อเข้าสู่ช่วงแปรปรวน น้ำจากเมฆทะลักทลายลงมาพร้อมกัน ทำให้ระบบที่เตรียมไว้ไม่สามารถรองรับได้ นั่นจึงเป็นที่มาของคำตอบว่า ทำไมฝนตกชั่วโมงเดียวน้ำท่วมแล้ว! ก็เพราะเมฆแต่ละก้อนมีน้ำอยู่ในนั้นมากกว่าสมัยก่อนนั่นเอง
เด็กรุ่นใหม่..อยู่ให้รอดต้องปรับตัว!
ผศ.ดร.ธรณ์ บอกต่อไปว่า เด็กรุ่นใหม่ต้องใช้ชีวิตไปอีก 30 ปีข้างหน้า สิ่งที่ต้องปรับคือ Mindset โดยมองว่า "โลกร้อน" เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ เป็นความ "อยู่รอด" ดังนั้นการเรียนรู้ทักษะเพื่อดำรงชีวิตจึงมีความจำเป็นกว่าการรณรงค์ต่างๆ ที่ช้าไปแล้ว
"ทุกวันนี้ผมสอนให้เด็กเอาตัวรอด เพื่อสามารถประกอบอาชีพในยุคโลกร้อน ควรสอนลูกหลานให้ทำมาหากินในระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เรียกว่าคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะประสบความสำเร็จในอนาคตข้างหน้า ในอดีตผู้ใหญ่อาจมีประสบการณ์เรื่องการเงิน แต่ในยุคโลกร้อน ผู้ใหญ่ยังไม่เคยเจอ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)! เท่ากับไม่มีประสบการณ์ เพราะฉะนั้น Net Zero หรือการตั้งเป้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์คือ ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง" นี่คือสิ่งที่อาจารย์ธรณ์ อยากให้ลองคิดนอกกรอบ
"ตอนเรียนผมไม่ได้อยู่ในห้อง แต่ไปอยู่ทะเล 120 วันต่อปี การอยู่นอกระบบทำให้ผมอยู่รอด เหมือนปลาที่อยู่นอกอวนจะไม่ติดอวน เพียงแต่ต้องเชื่อมั่นว่า คุณเป็นปลาที่ว่ายอยู่นอกอวนได้ ในขณะที่คนอื่นเขาเข้าไปในอวน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นปลาที่แข็งแรง เพียงแต่เราต้องเป็นปลาที่มั่นใจ"
ภารกิจขับเคลื่อนสู่...สังคมคาร์บอนต่ำ
ผศ.ดร.ธรณ์ บอกต่อไปอีกว่า โลกตอนนี้ เป็นยุคมาไวไปเร็ว มองซ้ายขวาหน้าหลัง ส่วนตัวรู้ว่าอีกสี่ปีข้างหน้าต้องทำอะไร หนึ่งในนั้นคือสร้างโรงอนุบาลเพาะเลี้ยงหญ้าทะเล ร่วมมือกับ บางจากฯ โดยในภารกิจที่ดำเนินการไปแล้ว คือปลูกหญ้าทะเลที่เกาะหมากจังหวัดตราด เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติให้ท้องทะเล และขับเคลื่อนสู่ สังคมคาร์บอนต่ำ ให้เกาะหมากเป็น Low Carbon Destination แห่งแรกของไทย เพราะเราเห็นถึงประโยชน์ ของหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon ที่ผ่านความท้าทายสูงมาก ยิ่งปลูกยิ่งตาย โลกยิ่งร้อน ความท้าทายยิ่งเยอะ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแผนไปเรื่อย ๆ
ผศ.ดร.ธรณ์ บอกว่า ทุกวันนี้มีแต่คนพูดถึงเรื่อง Net Zero ในอนาคต ทั้งๆ ที่ปัจจุบันยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทุกปี
"ถ้าเกิดมีคนพบว่าวันข้างหน้า หากเราไม่สามารถไปถึงเป้า Net Zero จะไปทวงสัญญานี้กับใคร ตราบใดที่ตัวเองไม่รับผิดชอบ"
แล้วรักษ์โลก ในแบบอาจารย์ธรณ์ทำอย่างไร ผศ.ดร.ธรณ์ บอกทิ้งท้ายว่า อยู่บ้าน ลดการเดินทาง ลดการใช้พลังงาน ถ้าต้องเดินทางก็โดยสารด้วยรถไฟฟ้า เริ่มต้นง่ายๆ แบบนี้ก่อน