อีวาย แนะนักลงทุนสถาบันปรับกลยุทธ์ สร้างสมดุลผลตอบแทน ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ
"อีวาย" แนะนักลงทุนสถาบันปรับกลยุทธ์ สร้างสมดุลระหว่างความต้องการสร้างผลตอบแทนระยะสั้นกับมูลค่าธุรกิจในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียเงินทุนให้กับธุรกิจ
3 ม.ค. 68 ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจ EY Institutional Investor Survey ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นปีที่ 11 ได้รวบรวมมุมมองของนักลงทุนสถาบัน 350 คน จากบริษัทจัดการการลงทุนทั่วโลก รวมถึงผู้จัดการสินทรัพย์ ผู้จัดการความมั่งคั่ง บริษัทประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญ โดยสำรวจขอบเขตการสร้างความยั่งยืนในกลยุทธ์การลงทุนของพวกเขา และการใช้รายงานความยั่งยืนในการตัดสินใจลงทุน โดยผลสำรวจระบุว่า แรงกดดันของเศรษฐกิจมหภาคและภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อกลยุทธ์และการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนสถาบัน โดยทำให้พวกเขามุ่งเน้นไปที่เป้าหมายการลงทุนในระยะสั้นมากกว่า
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าคำพูดของนักลงทุนเกี่ยวกับความสำคัญของ ESG กับการลงมือปฏิบัติด้าน ESG จริงของพวกเขามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 88% ระบุว่า บริษัทของพวกเขาใช้ข้อมูล ESG มากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าการรายงานข้อมูลขององค์กรและข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการรายงานนั้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ESG ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน โดยนักลงทุน 92% ไม่เชื่อว่าการยอมสละผลตอบแทนระยะสั้นเพื่อประโยชน์ที่อาจได้รับในระยะยาวจากการลงทุนด้าน ESG นั้นคุ้มค่า และนักลงทุน 66% กล่าวว่า ESG มีแนวโน้มจะมีบทบาทน้อยลงเมื่อต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกการลงทุนในไม่กี่ปีข้างหน้า
วิไลพร อิทธิวิรุฬห์ หุ้นส่วนและหัวหน้าส่วนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน อีวาย ประเทศไทย กล่าวว่า การไม่กระตือรือร้นของนักลงทุนต่อประเด็นด้าน ESG เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ จากความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการรายงานข้อมูลด้าน ESG ขององค์กรต่างๆ ที่ดูเหมือนยังมีความแตกต่างกันทางด้านคุณภาพของข้อมูล แต่การแสวงหาแนวทางที่จะตอบสนองต่อความต้องการทำกำไรในระยะสั้นนั้นเป็นเรื่องที่อาจไม่สมควร หลายครั้งที่นักลงทุนจำนวนมากมีแนวคิดและมุมมองที่ถูกต้องในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่พวกเขากลับล้มเหลวในการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนทั่วโลกควรเป็นแกนนำในการผลักดันเรื่องความยั่งยืน
ข้อมูลจากผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนกว่าครึ่ง (55%) เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์การลงทุนของตน โดย 63% กล่าวว่าปัจจัยหลักคือการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรทางธุรกิจ (Business cycle) และ 62% เห็นว่าข้อจำกัดทางการค้าและภาษีนำเข้าส่งออกทั่วโลกมีอิทธิพลมากที่สุด
นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการสำรวจ (93%) ให้ความเห็นว่าพวกเขาเชื่อมั่นว่าบริษัทจะยังคงบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยคาร์บอน และ 62% ระบุว่าพวกเขามีความพร้อมที่จะประเมินรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบริษัทต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีเพียง 17% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาติดตามการเปลี่ยนแปลงในนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัท
การไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG เป็นอันดับต้นๆ อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่นักลงทุนไม่แน่ใจว่าบริษัทต่างๆ นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับความยั่งยืนหรือไม่ โดยนักลงทุน 85% มองว่าการฟอกเขียว (Greenwashing) เป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นกว่าเมื่อห้าปีก่อน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่านักลงทุน 36% ไม่พอใจกับการรายงานความคืบหน้าของบริษัทต่างๆ ในรายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน (Nonfinancial reporting) โดยนักลงทุน 80% กล่าวว่ารายงานดังกล่าวต้องเน้นย้ำเนื้อหาที่มีสาระสำคัญอย่างแท้จริง และต้องจัดทำขึ้นในรูปแบบที่ช่วยให้เปรียบเทียบและระบุข้อแตกต่างกับรายงานของบริษัทอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น โดยนักลงทุน 64% ระบุว่าจำเป็นต้องมีการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ อย่างเป็นอิสระ
"หลายคนมองว่าความยั่งยืนไม่มีความสำคัญมากเท่าไรนักในการตัดสินใจลงทุน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่ ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่ถูกมองข้ามไปอาจสร้างหายนะให้กับบริษัทและผู้สนับสนุนทางการเงินของบริษัทได้ ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องรู้ว่ากำลังนำเงินไปลงทุนกับอะไร ในทางตรงกันข้ามการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสมเปิดโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้กับบริษัทได้ แต่นักลงทุนที่ไม่ได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังอาจมองข้ามโอกาสเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย" วิไลพร กล่าว
ความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนส่งผลกระทบในวงกว้างต่อบริษัทและรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ ดังนั้น นักลงทุนควรมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลงทุน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการสร้างผลตอบแทนระยะสั้นกับมูลค่าธุรกิจในระยะยาว นอกจากนี้ นักลงทุนควรประเมินมูลค่าที่เป็นไปได้ของเงินลงทุนในบริบทของสถานการณ์ต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียเงินทุนและเสริมสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับธุรกิจ
"โลกมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายใน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ เราจำเป็นต้องมีเงินทุนหลายล้านล้านบาท และนั่นขึ้นอยู่กับบรรดานักลงทุนที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยมองว่าความยั่งยืนเป็นแหล่งที่มาของมูลค่า ไม่ใช่เป็นเพียงความเสี่ยง รวมทั้งลงมือทำอย่างจริงจัง โดยหากทำได้อย่างถูกต้องแล้ว เราจะเห็นการเพิ่มขึ้นของเงินทุนไหลเข้าสู่โครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ และการอัดฉีดเงินทุนเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องที่ยิ่งใหญ่ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" วิไลพร กล่าวปิดท้าย