"สายใยซั้งเชือก PTTGCสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง
โครงการเฉลิมพระเกียรติ “สายใยซั้งเชือก PTTGC สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง”
เพราะทรัพยากรทางทะเล คือหัวใจสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนชายฝั่งทะเลที่มีรายได้หลักจากการประมง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับจังหวัดระยอง และชุมชนประมงชายฝั่ง จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ “สายใยซั้งเชือก PTTGC สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง” โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ผู้นำชุมชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล ณ บริเวณหาดแหลมเจริญ จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
โครงการเฉลิมพระเกียรติ “สายใยซั้งเชือก PTTGC สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลระยอง” เป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศในทะเล ที่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จ เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 และเพื่อฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แห่งการก่อตั้งบริษัทฯ จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่อ่าวระยอง
ภายใต้ความร่วมมือกับจังหวัดระยอง สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 และ สำนักงานประมงจังหวัดระยอง นักวิชาการ ตลอดจนชุมชนชายฝั่งและสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยอง ในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอแกลง และ อำเภอบ้านฉาง โครงการฯ จะจัดทำซั้งเชือกจำนวน 70 กอง และซั้งกอ เพื่อเพิ่มแหล่งทรัพยากรและระบบนิเวศในทะเลบริเวณอ่าวระยอง สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กตลอดแนวชายฝั่งทะเลจังหวัดระยอง สอดคล้องตามแผนงานบริหารจัดการฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลพื้นที่อ่าวระยองของจังหวัด รวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 120 กิโลเมตร
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “ชุมชนประมงพื้นบ้านในจังหวัดระยอง มีจำนวนกว่า 30 ชุมชน ก่อนหน้านี้ชาวบ้านประสบปัญหาเนื่องจากจับสัตว์น้ำได้น้อยลง สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภูมิประเทศ และการนำเครื่องมือจับสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ การรุกล้ำเขตของประมงน้ำลึก ทำให้ชาวประมงชายฝั่งเริ่มตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง ซึ่งทรัพยากรทางทะเลนั้น เมื่อเราจับสัตว์น้ำแล้วก็มีวันหมดไปได้หากไม่มีการทดแทน จึงต้องขอขอบคุณภูมิปัญญาการทำซั้งเชือกที่ทำให้เราได้ทรัพยากรและสัตว์ทะเลคืนมา โดยวันนี้ชาวประมงในพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำซั้งเชือกได้กว่า 70 ซั้ง ด้วยการสนับสนุนของพีทีที โกลบอล เคมิคอล คาดว่าเราจะสามารถวางซั้งเชือกทั้งหมดได้ก่อนถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงปลายปีนี้ จึงเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน”
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชนกล่าวว่า “บริษัทฯ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และชุมชน เพื่อร่วมจัดทำซั้งเชือกและซั้งกอ ที่จะใช้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลตลอดแนวชายฝั่งทะเลในจังหวัดระยอง ซึ่งบริษัทฯ ได้นำผลิตภัณฑ์พลาสติกคุณภาพสูงของบริษัทฯ ที่มีความทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้สำหรับอุตสาหกรรมประมงมาผลิตซั้งเชือก สำหรับโครงการฯ มีระยะเวลาการดำเนินการ 1 ปี โดยคาดหวังว่า การดำเนินโครงการนี้จะช่วยฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของระยอง เพิ่มแหล่งทำการประมงที่มีประสิทธิภาพ และสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของชาวประมงในพื้นที่ ทำให้ชาวประมงมีรายได้จากการจับสัตว์น้ำมากขึ้น และมีรายได้จากการท่องเที่ยว
“ซั้งเชือก” หรือหญ้าเทียมในทะเล ถูกนำมาใช้ทดแทนหญ้าจริงในทะเลเพื่อเป็นแหล่งหลบภัย วางไข่ และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลวัยอ่อน โดยซั้งเชือกจากภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นจะใช้วัสดุธรรมชาติจากกาบมะพร้าว ทางมะพร้าว ซึ่งไม่คงทน จึงเป็นที่มาของการผสมผสานการทำบ้านให้สัตว์น้ำ ทั้งบ้านที่เป็นธรรมชาติ และบ้านที่ทำจากผลิตภัณฑ์พลาสติก HDPE เข้าด้วยกัน ซึ่งจะมีความทนทาน อายุยืนนานกว่า โดยในการทำซั้งเชือก จะต้องมีการสางเชือกเพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ เมื่อปล่อยซั้งเชือกลงทะเล เพรียงและสัตว์น้ำเล็ก ๆ จะเริ่มเข้ามาเกาะ จากนั้นหอยชนิดต่างๆ จะเข้ามาวางไข่ตามซอกมุมต่างๆ การสางเชือกให้เป็นฝอยจะเพิ่มการยึดเกาะได้ดีขึ้น มากกว่าที่จะปล่อยเชือกเป็นเส้นเดี่ยวๆ ลงไป และนี่คือที่มาของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ พีทีที โกลบอล เคมิคอล ให้การสนับสนุน
นายไมตรี รอดพ้น ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อำเภอเมือง และอำเภอบ้านฉางสามัคคี ในฐานะตัวแทนจากกลุ่มประมงระยองได้กล่าวถึงประโยชน์ของการดำเนินโครงการในครั้งนี้ว่า “ซั้งเชือกเป็นเหมือนหญ้าเทียม มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านในระยอง ใช้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาปริมาณสัตว์ทะเลที่มีจำนวนลดน้อยลง โดยพีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนสามารถเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ทะเลได้ จึงขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน และพีทีที โกลบอล เคมิคอล ที่ให้ความร่วมมือในการทำให้ทะเลระยองกลับมาเป็นแหล่งของสัตว์ทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของพวกเราทุกคนอย่างแท้จริง”ด้วยประโยชน์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน และนวัตกรรมของพีทีที โกลบอล เคมิคอล ในครั้งนี้ ทรัพยากรทางชายฝั่งทะเลระยอง จะได้รับการพัฒนาด้วยความรู้ความเข้าใจ รวมถึงจิตสำนึกของชุมชน ร่วมกับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนสืบไป