กระทรวงอุตฯ แถลงสนับสนุนโรงงานไทยเดินหน้าฝ่าวิกฤติ
พิจารณาสินเชื่อพิเศษเพื่อผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้เป้าโอกาสอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ พร้อมสนับสนุนโรงงานไทยเดินหน้าฝ่าวิกฤต พิจารณาสินเชื่อพิเศษเพื่อผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เน้นการสื่อสารช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มทักษะ (Re-Skill) และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้าน รี้ด เทรดเด็กซ์ ผู้จัดงานแสดงเทคโนโลยีและผู้ให้บริการยกระดับและพัฒนาโรงงานสู่มาตรฐาน งานแฟ็กเทค 2020 ยืนหยัดหนุนภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าจัดงานตามกำหนด ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนา
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยจากแผน Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อเร่งให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว มีเป้าหมายในปี 2573 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด (ROADMAP : THAILAND SMART MOBILITY 30@30) โดยยานยนต์ไฟฟ้าช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และช่วยประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ในระหว่างการดำเนินการขยายผล จัดทำแผนการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำและราคาถูกออกมากระตุ้นตลาด สร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนมาใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา จัดทำมาตรฐาน สร้างศูนย์ทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัย และการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ การส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย รัฐจะต้องสร้างอุปสงค์ (Demand) ในประเทศต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้นักลงทุนที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนภายในประเทศตามนโยบายที่ตั้งไว้ อาทิ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจโดยสนับสนุนสินค้าภายในประเทศ (Local content) การลดภาษีนำเข้าสินค้า ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การสร้างอุปทาน (Supply) โดยการเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมมาลงทุน อาศัยการให้สิทธิประโยชน์ให้การผลิตภายในประเทศมีผลตอบแทนมากกว่าการนำเข้า ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ สุดท้ายรัฐต้องมีมาตรการที่จะเสริมสร้างทักษะแรงงานเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม (Re-Skill) เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิตัล และลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนแรงงานของภาคอุตสาหกรรมเดิมสู่อนาคตควบคู่กันไป
อย่างไรก็ดี เพื่อการเดินหน้าฝ่าวิกฤต การรองรับการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมาประเทศไทย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุน ด้วยมาตราการสนับสนุน Thailand Plus ดังนี้
- ด้านสิทธิประโยชน์ สำหรับโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายที่มีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทุกพื้นที่ โดยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีการลงทุน ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ภายในปี 63 หรือ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ภายในปี 64
- ด้านบุคลากร ให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advance Technology ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562-2563 และสามารถนำไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
- มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเตรียมมาตรการฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ทั้งด้านการเงิน เช่น การพิจารณาขอสินเชื่อพิเศษเพื่อผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงนโยบายช่วยลดต้นทุนการผลิต การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าโรงงานผ่านช่องทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) หรือการชะลอการเลิกจ้างงานโดยให้คนงานฝึกอบรมโดยภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) เป็นต้น
นายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เผยยืนหยัดพร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย เดินหน้าจัดงานแฟ็กเทค 2020 (FACTECH) ตามกำหนด ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนา แสดงเทคโนโลยีและผู้ให้บริการยกระดับและพัฒนาโรงงานสู่มาตรฐาน เป็นการสร้างเสริมผู้ประกอบการโรงงานให้เข้มแข็ง พร้อมรับมือทุกความท้าทายและพร้อมต่อยอดทุกโอกาส โดยงานดังกล่าวนี้ พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย การย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศไทย อัตราการก่อตั้งและขยายโรงงานที่เพิ่มมากขึ้นและอุตสาหกรรมไทยเองกำลังอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 ทำให้ปริมาณความต้องการพัฒนาโรงงานจึงมีเพิ่มมากขึ้น โดยการจัดงานดังกล่าวจะดำเนินการตามมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
งานแฟ็กเทค 2020 (FACTECH) นับเป็นงานเดียวในอาเซียนรวมเทคโนโลยีและผู้ให้บริการที่พร้อมตอบสนองความต้องการยกระดับโรงงานสู่มาตรฐานสากล ด้วยโซลูชั่นและบริการเพื่อพัฒนาการระบบโรงงานรอบด้าน ระบบไฟและไฟฟ้า ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ระบบรักษาความปลอดภัยและไอที รวมไปถึงโซลูชั่นเพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษา จัดร่วมกับ งานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2020 งานแสดงเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตและสนับสนุน อาทิ เทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เทคโนโลยีสำหรับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการขึ้นรูปแม่พิมพ์ เทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการผลิตพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ และโซลูชั่นด้านการเตรียมและเคลือบพื้นผิว ด้วยนวัตกรรมล่าสุดกว่า 2,400 แบรนด์ จาก 46 ประเทศ พร้อมเสวนาอัพเดทความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรม เจ้าของกิจการ ผู้จัดการโรงงาน วิศวกรที่ปรึกษา กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนถึงนักอุตสาหกรรมในวงการการผลิต ไม่ควรพลาดงานนี้ ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนา