ทีเซลส์ ผนึกกำลังร่วมกับ มหิดลต่อยอดผลกระชายขาวต้าน COVID-19

ทีเซลส์ ผนึกกำลังร่วมกับ มหิดลต่อยอดผลกระชายขาวต้าน COVID-19

นโยบายสนับสนุนการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาจากสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารชีวภาพและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ผนึกกำลังร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว ประสิทธิภาพของกระชายขาวต้าน COVID-19 ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดย ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานแถลงข่าว ความสำเร็จการคิดค้นสารออกฤทธิ์ต้าน COVID-19 จากสมุนไพร ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท วันที่ 1 มิถุนายน 2563

 

ร่วมฟังเสวนาหัวข้อ ประสิทธิภาพของกระชายขาวต้าน COVID-19 จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการ ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล, รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา ดำเนินรายการโดย ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

รศ.นพ.ธันย์  สุภัทรพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์การระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชากร และระบบเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ในปัจจุบันหลายๆประเทศทั่วโลกเริ่มคลายสถานการณ์ล็อคดาวน์ ทั้งนี้ ทั่วโลกยังคงเร่งพัฒนายาต้านไวรัสและวัคซีนสำหรับการป้องกัน รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดลได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การระบาดมาตั้งแต่ต้นและระดมทีมนักวิจัยร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดเป็น COVID-19 Research Cluster

 โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มงานวิจัยหลัก ซึ่ง 1 ใน 5 กลุ่มงานวิจัยคือ Drug Discovery หรือ การค้นหาพัฒนายาใหม่ ร่วมกับกลุ่มงานวิจัยด้าน Serology and Plasma Therapy ซึ่งเป็นการรวมพลังด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องหลักๆ ในการสร้าง platform การตรวจวิเคราะห์หาสารออกฤทธิ์จากสารสกัดธรรมชาติ รวมถึงสมุนไพรไทยที่ใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวัน ที่มีฤทธิ์ต่อ SARS-CoV-2 ได้แก่ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับที่ 3 (Bio Safety Level 3; BSL-3) ในการคัดแยกและเพาะเลี้ยงไวรัส SARS-CoV-2 นำทีมโดย รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา หรือ ECDD

ซึ่งเป็นแหล่งคลังจัดเก็บสารสกัด และดำเนินการด้วยเทคโนโลยี High-Throughput Screening (HTS) นำทีมโดย ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ  ในการสร้าง Platform เพื่อตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิรามาธิบดีฯ และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างโอกาสต่อยอดความเข้มแข็งของประเทศที่มีอยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤตการระบาด COVID-19 เพื่อค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาและนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนายาในขั้นต่อไป จากการผนึกกำลังร่วมกันครั้งนี้

พบว่าจากการตรวจคัดกรองสารสกัดในคลังจำนวนกว่า 120 ตัวอย่าง พบว่า สารสกัดจากกระชายขาว และขิง มีความโดดเด่นจากสารจำนวน 6 ชนิดที่มีศักยภาพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ SARS-CoV-2 ที่ยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสได้ 100% ในปริมาณความเข้มข้นของยาระดับน้อยๆ และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ซึ่งผลดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบเทียบเคียงกับผลการยับยั้งของ FDA approved drugs ได้แก่ ยา Niclosamide และยา Hydroxychloroquine แล้ว โดยมีแผนการตรวจวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงกลไกระดับเซลล์ต่อ พร้อมทั้งขยายผลการศึกษาประสิทธิภาพของ “กระชายขาว” ซึ่งให้ผลการยับยั้งดีที่สุดมาพัฒนาต่อให้สามารถเข้าสู่ clinical trial โดยในส่วนของ early phase clinical trial จะทำในโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหลัก และขยายความร่วมมือออกไปในส่วนของ phase II และ III ในลักษณะของ multicenter study ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาที่เป็น Modernized Thai Traditional Medicine ได้”

 

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวถึงจุดตั้งต้นความร่วมมือระหว่าง ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี “ในการจัดตั้งและร่วมบริหารจัดการ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา” หรือ ECDD ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับงานวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรคในระดับโมเลกุลภายในเซลล์และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนสร้างเครือข่ายและมีคลังจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพโดยมีการรวบรวมสารสังเคราะห์และสารสกัดจากธรรมชาติจากทั่วประเทศไทย ภายใต้มาตรฐานสากลคือ ISO9001:2015 และอยู่ระหว่างเตรียมขอรับรองมาตรฐาน ISO17025 และ OECD GLP ในลำดับถัดไป นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยสามารถค้นหาสารสำคัญทางยา และนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนายาในขั้นต่อไป”

 

“ทั้งนี้ ในช่วงที่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 เข้ามาในประเทศไทย ทีเซลส์ (TCELS) เล็งเห็นถึงความจำเป็นและโอกาสในการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่มีอยู่ มาใช้ประโยชน์ในการศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรไทยต่อไวรัส SAR-CoV-2 โดยผลการคัดกรองสารออกฤทธิ์ที่ได้นี้ จะทำให้ประเทศมีโอกาสต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกใช้ในการรักษา ฃและเตรียมความพร้อมรองรับการระบาดต่อไป”

 

ทีเซลส์ (TCELS) มีนโยบายสนับสนุนการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาจากสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารชีวภาพและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกับ Japan Pharmaceutical Manufacturers Association (JPMA) ประเทศญี่ปุ่น และBiotechnology and Pharmaceutical Industries Promotion Office (BPIPO) ไต้หวัน International Network Agreement of the Natural Products Drug Discovery Consortium under Asia Partnership Conferenced of Pharmaceutical Associations (APAC NPDD)” โดยมีส่วนหนึ่งของข้อตกลงคือ การสร้างขีดความสามารถ

ด้านกำลังคน/ นักวิจัยของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทำงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นร่วมกับนักวิจัยในบริษัทผู้ผลิตยาของประเทศญี่ปุ่น และกลับมาทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือวิจัยร่วมกับหน่วย ECDD ให้มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้าน drug discovery และให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากการที่มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน และผนึกกำลังในการผลักดันของทั้ง 2 หน่วยงาน ในด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และสนับสนุนงานวิจัยในการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากสารธรรมชาติ เพื่อพัฒนาไปเป็นยา มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญในการรองรับสภาวการณ์ฉุกเฉิน ที่มีการระบาดโรคโรค COVID-19 สามารถค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” ดร.นเรศ กล่าวปิดท้าย

 

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเพื่อสร้างยารักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ด้วยการบริจาคผ่าน...

  • มูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อโครงการป้องกันและช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ / บัญชีกระแสรายวัน / เลขที่บัญชี 026-3-05216-3
  • บริจาคออนไลน์ ramafoundation.or.th
  • โทรศัพท์ : 0 2201 1111