วิธีดูแล หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด ทารกแรกเกิด ช่วงโควิด 19
ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแล หญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอด รวมถึงการดูแลทารกแรกเกิดอย่างเคร่งครัด
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่วิธีการดูแลผู้หญิง ตั้งครรภ์ หลังคลอด และทารกแรกเกิด ช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ขึ้น โดยแบ่งเป็น หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ และ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการดูแลทารกแรกเกิดในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อและติดเชื้อ COVID-19
การดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ
กลุ่มปกติในที่นี้ คือ กลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ จึงยังไม่มีข้อมูลว่า โอกาสติดเชื้อ covid-19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ แต่ในหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จึงมีโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกับ covid-19 และไวรัสชนิดอื่นที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ ให้ใช้หลักการป้องกัน 3 ล. นั่นคือ เลี่ยง ลด ดูแลตนเอง อย่างเคร่งครัด ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไอ เป็นไข้ หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก
- รักษาระยะห่าง social distancing ในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ด้วยการอยู่ห่างกัน 1 – 2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก และจมูก
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ หรือปรุงอาหารให้สุกร้อนทั่วถึง
- หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะรับประทานอาหารและของใช้ส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดนานอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งที่มีการไอจาม สัมผัสสิ่งแปลกปลอม ก่อนรับประทานอาหาร หรือออกจากห้องน้ำ หากไม่มีสบู่ ให้ใช้แอลกอฮอล์เจล 70 เปอร์เซ็นต์
- ในขณะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ถ้ามีอาการไอ จาม ให้ใช้ต้นแขนด้านบนปิดปากทุกครั้ง
- แม่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากมีอาการป่วยเล็กน้อย ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์
- หญิงตั้งครรภ์สามารถฝากครรภ์ได้ตามนัด
การดูแล หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยงในที่นี้คือ ผู้ที่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 ควรปฏิบัติตน ดังนี้
- แยกตนเองออกจากครอบครัว และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน งดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- งดการออกไปในที่ชุมชนสาธารณะโดยไม่จำเป็น และงดการพูดคุย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
- กรณีครบกำหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
- กรณีเจ็บครรภ์คลอด ต้องไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน
การดูแลทารกแรกเกิด ในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อและติดเชื้อ COVID-19
- ยังไม่มีหลักฐานการติดต่อผ่านทางรกหรือผ่านทางน้ำนมแต่อย่างใด
- ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยง จะต้องมีการแยกตัวออกจากผู้อื่น และต้องสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน
- บุคลากรทางการแพทย์ ควรอธิบายถึงความเสี่ยง ความจำเป็น และประโยชน์ ของการแยกแม่ออกจากทารกชั่วคราว ให้แม่เข้าใจและปฏิบัติตาม
แนวทางการปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางน้ำนม ดังนั้นจึงสามารถกินนมแม่ได้ โดยปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
ข้อแนะนำการปฏิบัติสำหรับแม่
ในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ หรือ แม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วและมีสภาพร่างกายพร้อมที่จะปั๊มนมได้ ควรปฏิบัติตาม ดังนี้
ก่อนเริ่มกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมนมและการปั๊มนม
- อาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำและสบู่
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป
- สวมหน้ากากอนามัย ตลอดการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเตรียมนม และการปั๊มนม
หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมนมและการปั๊มนม
- ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ที่ปั๊มนม ขวดนม ด้วยน้ำยาล้างอุปกรณ์ และทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ
- การให้นม ให้หาผู้ช่วยเหลือหรือญาติที่มีสุขภาพแข็งแรงที่ทราบวิธีการป้อนนมที่ถูกต้อง และต้องปฏิบัติตามวิธีการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยวิธีการนำน้ำนมแม่มาป้อนด้วยการใช้ช้อน หรือถ้วยเล็ก หรือขวด
- กรณีที่แม่ต้องอยู่เพียงลำพัง แม่สามารถป้อนนมลูกได้เอง โดยต้องปฏิบัติตามแนวทาง เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด