คนเลี้ยงหมู แค่พอลืมตาอ้าปาก หวังกลไกตลาดทำงานเสรี
โดย น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ทำให้กิจการและกิจกรรมทั่วโลกต้องหยุดลง แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ดังเช่นโอกาสของคนเลี้ยงหมูที่เรียกว่าปีนี้วังวน “เสีย 3 ปี ดี 1 ปี” กลับมาตกในช่วงปีที่ดี หลังจากต้องแบกรับภาวะขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ที่วงการหมูต้องประสบปัญหาหมูล้นตลาด และพบกับความผันผวนของภาวะราคาตาม “วัฎจักรหมู” ที่ราคาขึ้นลงอยู่ตลอด จึงไม่น่าแปลกใจที่การเลี้ยงหมูกลายเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอนเพราะคาดเดาราคาในแต่ละช่วงได้ยาก ต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน และมีต้นทุนการเลี้ยงสูง
ขณะที่อาชีพเลี้ยงหมูกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย โดยมีเกษตรกรมากกว่า 20% ต้องเลิกเลี้ยงเพราะทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว ก็ยังมีปัญหาใหญ่ที่วงการหมูทั่วโลกต้องหวั่นวิตก จากโรค “แอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์” หรือ ASF ที่เริ่มระบาดในหลายประเทศตั้งแต่ปี 2561 สร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในประเทศที่โรคนี้ไปถึง เพราะไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษา โดยเฉพาะในจีนที่เป็นเมืองหลวงของการเลี้ยงหมูและเป็นประเทศผู้บริโภคหมูรายใหญ่ของโลก รวมถึงเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ที่มีการระบาดของ ASF จนทำให้ปริมาณหมูลดลง ส่งผลต่อราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น
ยังโชคดีที่วงการหมูไทยร่วมกันป้องกันโรคนี้อย่างเข้มแข็ง ทำให้ไทยคงสถานะ “ปลอดโรค ASF” มากว่า 2 ปีแล้ว จึงไม่แปลกที่หมูของไทยจะเนื้อหอม เป็นที่ต้องการของทุกประเทศโดยเฉพาะที่มีการระบาดของโรคนี้จากการขาดแคลนเนื้อหมูเพื่อการบริโภค แต่ถึงอย่างไรไทยก็ยังคงบริหารจัดการการผลิตเพื่อ “คนไทย” ก่อนเป็นอันดับแรก ทำให้ประเทศไทยไม่เคยขาดแคลนหมูเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ
คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือพิกบอร์ด คาดการณ์ว่าปี 2563 นี้ ประเทศไทยจะมีผลผลิตหมูขุนจำนวน 22.41 ล้านตัว ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 0.53% เนื่องจากภาวะราคาสุกรมีชีวิตตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรลดการเลี้ยงแม่พันธุ์ ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศสูงขึ้นหลังรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19
ปัจจุบันผลผลิตหมูขุนมีชีวิตที่ออกสู่ตลาด 6 หมื่นตัวต่อวัน บริโภคในประเทศ 4-5 หมื่นตัวต่อวัน ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน เพื่อระบาดหมุส่วนเกินเท่านั้น พบว่าเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการส่งออกหมู 6,000 ตัว ขณะเดียวกัน พิกบอร์ด ยังมีมติตั้งคณะกรรมการติดตามการส่งออกและการบริโภคภายใน โดยกรมการค้าภายใน กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ร่วมกันดำเนินการ และต้องทำรายงานเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทุก 15 วัน เพื่อสร้างความสมดุลหมูมีชีวิตสำหรับตลาดในประเทศและส่งออก รวมทั้งหมูแปรรูปที่ส่งออกไปญี่ปุ่นและฮ่องกง
ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า “หมูจะไม่ขาดแคลนหรือมีราคาแพง” เพราะมีภาครัฐร่วมกับสมาคมและเกษตรกรร่วมกันบริหารจัดการอย่างเข้มแข็ง ขณะที่กรมการค้าภายในและกรมปศุสัตว์ ได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรทุกฟาร์มตรึงราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายหมู
ปลีกหน้าเขียงไม่เกิน 150-160 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทุกฟาร์มยังคงร่วมมือกันดูแลค่าครองชีพผู้บริโภคต่อไป
แม้ว่าเกษตรกรต้องเผชิญหน้ากับภาวะราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ค่อนข้างสูง รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมานั้น จะทำให้เกษตรกรต้องซื้อน้ำเลี้ยงหมู บางฟาร์มมีค่าใช้จ่ายถึงกว่าล้านบาท รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด จนมีรายจ่ายเพิ่ม 100-200 บาทต่อตัว ก็ตาม แต่วันนี้คนเลี้ยงหมูก็ยังคงดูแลผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อน และเกษตรกรทุกคนยังหวังว่าในที่สุดแล้ว เมื่อภาวะวิกฤตกลับมาดีขึ้น กลไกตลาดจะได้ทำงานอย่างเสรี เพื่อให้โอกาสคนเลี้ยงหมูได้ลืมตาอ้าปาก หลังจากต้องรับภาระขาดทุนมาตลอด อย่าปล่อยให้เกษตรกรหมดกำลังใจ และต้องกลับสู่วังวน “เสีย 3 ปี ดี 1 ปี” อย่างที่ต้องพบเจออีกเลย./