นักเรียนโรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต สร้างแขนเทียมด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

 นักเรียนโรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต สร้างแขนเทียมด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

สร้างแขนเทียมด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยเด็ก 5 ขวบไร้แขนตั้งแต่เกิด ตั้งเป้าเรียนรู้และสร้างสรรค์เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นโซลูชันช่วยสังคม

โรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต (British International School, Phuket: BISP) สุดเจ๋ง! ประดิษฐ์แขนเทียมด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สานฝันเด็ก 5 ขวบไร้แขนตั้งแต่เกิด ตั้งเป้าเรียนรู้และสร้างสรรค์เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นโซลูชันช่วยสังคมต่อเนื่อง

 

โจนาธาน คลาร์ก (Jonathan Clark) หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ (Head of ICT & computing at BISP) ของ BISP เปิดเผยว่า กลุ่มนักเรียนจากโครงการ CAS (Creativity, Action and Service) ของ โรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต ได้แก่ เมลานี พรีน (Melanie Preen) ไมเคิล ลาร์สสัน (Michael Larsson) และ อาร์เซนี บาร์บาชอฟ (Arsenii Barbashov) ได้ออกแบบและประดิษฐ์แขนเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติสำเร็จ และมอบให้กับเด็กหญิงวัย 5 ขวบที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งสูญเสียแขนตั้งแต่กำเนิดจากภาวะถุงน้ำคร่ำ สร้างรอยยิ้มและความสุขให้แก่เด็กน้อยและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

 

"หลังจากพ่อของของหนูน้อยวัย 5 ขวบติดต่อเรามาให้ช่วยทำแขนเทียมให้ เนื่องจากทราบข่าวว่านักเรียนของเรามีความสามารถในการพิมพ์แขนขาเทียมแบบ 3 มิติ (3D Print Prosthetics Limb) เราตอบรับทันทีโดยไม่ลังเล เพราะ BISP มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้านเทคโนโลยีอันทันสมัยที่โรงเรียนของเรามีอยู่ โดยนำมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยผู้คนและสังคมให้มากที่สุด ซึ่งเรารู้สึกภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนของเราได้สร้างแขนใหม่ให้กับเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ได้มีความสุขอีกครั้ง" โจนาธานกล่าว

 

การสร้างแขนขาเทียมด้วยการพิมพ์ 3 มิตินี้ นำทีมโดย เมลานี พรีน ไมเคิล ลาร์สสัน และ อาร์เซนี บาร์บาชอฟ 3 นักเรียนจากโครงการ CAS ของ BISP ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มขีดสามารถให้กับนักเรียนด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ภายใต้วิสัยทัศน์การดำเนินงาน 3 ข้อ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การลงมือ (Action) และการบริการสังคม (Service) โดยนักเรียนจะนำเทคโนโลยีอันทันสมัยที่โรงเรียน BISP มีอยู่มาสร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับผู้คนและสังคมอย่างยั่งยืน

 

เมลานี ไมเคิล และอาร์เซนี เริ่มกระบวนการผลิตแขนเทียมด้วยการพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้รูปถ่ายขนาดแขนของเด็กหญิงเพื่อสร้างขนาดที่เหมาะสม จากนั้นก็ออกแบบกลไกการใช้งาน และรูปทรงที่สวยงามด้วยความคิดสร้างสรรค์ ก่อนจะใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) พิมพ์ด้วยโลหะคุณภาพสูง อาทิ ไททาเนียมและโลหะผสมอื่น ๆ และนำมาประกอบกันเป็นแขนเทียมที่มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันโครงการ CAS ยังคงทำงานร่วมกับผู้ใช้แขนเทียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงการใช้งานให้ง่ายและสะดวกสบายในการประกอบมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การพิมพ์ 3 มิติเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสำหรับทั้งสำหรับมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ซึ่งสามารถออกแบบได้ฟรีผ่านโปรแกรมออนไลน์โดยไม่มีลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกับนักเรียน BISP ที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวบวกรวมกับความคิดสร้างสรรค์ จึงสามารถสร้างอวัยวะเทียมได้ในราคาเพียง 1,500 บาท ซึ่งเทคโนโลยีนี้กำลังจะทำให้แขนขาเทียมราคาประหยัดกลายเป็นจริง ในขณะเดียวกันยังเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนลงมือทำแขนขาเทียมแบบโฮมเมดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม วัสดุการพิมพ์ 3 มิติยังไม่สามารถแทนที่ความทนทานในระยะยาวของแขนขาเทียมที่ผลิตขึ้นแบบดั้งเดิมได้ แต่กลุ่มนักเรียน CAS ของ BISP คาดหวังว่า แนวปฏิบัตินี้จะมีอิทธิพลต่อตลาดผู้ผลิตระดับมืออาชีพ และกระตุ้นให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลกมีส่วนร่วมในการสร้างต้นแบบแขนขาเทียมด้วยการพิมพ์ 3 มิติ ที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกลง ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องใช้งานมากยิ่งขึ้น

 

เมลานี ไมเคิล และ อาร์เซนี กล่าวถึงความภาคภูมิใจในผลงานครั้งนี้ว่า รางวัลแห่งความสำเร็จคือความอิ่มเอมใจที่พวกเขาได้รู้ว่า ได้ช่วยปรับปรุงชีวิตของใครบางคนให้ดีขึ้น การเข้าร่วมโครงการนี้ยังเป็นโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่มากมาย ได้เพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การแก้ปัญหา การตัดสินใจ ความเมตตากรุณา และการใช้เทคโนโลยีเพื่อบรรเทาปัญหา ตัวอย่างเช่น พวกเขาเรียนรู้วิธีการประดิษฐ์แขนเทียมจากแหล่งข้อมูลทางออนไลน์ และนำมาลงมือทำด้วยการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่มีอยู่ในโรงเรียน และพัฒนาจนสำเร็จ ที่สำคัญ ความสำเร็จครั้งนี้มาจากความพยายามในการทำงานร่วมกัน พวกเขาหวังว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลาย ๆ คนสร้างความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกันนี้ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งมอบโซลูชันที่จำเป็นอย่างมากให้แก่โลกของเราที่เต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

โรงเรียนนานาชาติบริติชภูเก็ต (BISP) เป็นโรงเรียนนานาชาติขนาดกลางเปิดสอนระดับประถมและมัธยม ตั้งอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 วิทยาเขตครอบคลุมพื้นที่ 99 ไร่ ที่ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิชาการ กิจกรรมสันทนาการ และกีฬา ได้แก่ สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สนามฟุตบอล และศูนย์กอล์ฟ มีนักเรียนกว่า 60 สัญชาติ ที่ได้รับการเรียนการสอนภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นจะพัฒนานักเรียนให้เป็นคนเก่งและดี มีความทันสมัย เรียนรู้รอบด้าน พร้อมการช่วยเหลือสังคม จึงทำให้นักเรียนของ BISP ได้รับความสำเร็จมากมายหลายด้านจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ รางวัลด้านกีฬา วิชาการ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของ BISP ได้ที่ www.bisphuket.ac.th