สสส.เพิ่มในการรณรงค์เลิกบุหรี่-ค้านบุหรี่ไฟฟ้า

 สสส.เพิ่มในการรณรงค์เลิกบุหรี่-ค้านบุหรี่ไฟฟ้า

ไทยค้านบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการรณรงค์เลิกบุหรี่ของ สสส. เพราะตัวเลขผู้สูบบุหรี่ไม่ลดตามเป้าหมาย

 

 

นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “มนุษย์ควัน” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.6 หมื่นคน เผยว่า “สาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) ออกรายงานการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งยังคงยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มาก และยังช่วยให้ผู้สูบบุหรี่กว่า 5 หมื่นคนในอังกฤษสามารถเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งอังกฤษต้องการจะเป็นประเทศปลอดควันในปี 2573 และตั้งใจจะทบทวนกฎระเบียบใหม่เพื่อสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ให้กับผู้สูบบุหรี่ และป้องกันการใช้ในเยาวชนด้วย”

รายงานฉบับดังกล่าวเป็นฉบับที่ 7 ของสาธารณสุขอังกฤษ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จัดทำโดยนักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมในฐานะเครื่องมือเลิกบุหรี่ และมีกว่า 5 หมื่นคนที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จด้วยการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปี 2560 และมีอัตราความสำเร็จในการเลิกบุหรี่สูงถึง 59.7% ถึง 74% ในปี 2019 และ 2020 ขณะที่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนอายุ 11 ถึง 18 ปียังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ยังมี 38% และ 15% ของผู้สูบบุหรี่ที่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายเท่ากับ และ มากกว่าการสูบบุหรี่

“อังกฤษจะเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ห่างไกลจากเยาวชน การสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ และเผยแพร่ข้อมูลศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ สสส. และเครือข่ายมักอ้างความสำเร็จว่าสามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้ดี แบนบุหรี่ไฟฟ้าได้ จนได้รับการยกย่องและรางวัลจากนานาประเทศ แต่ความเป็นจริงคืออัตราการสูบบุหรี่ในประเทศทรงตัวที่ 19-20% มานานกว่า 10 ปีแล้ว ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ละปี สสส. มีเงินจากภาษีบาป 4 พันล้านบาทต่อปี แต่เอาไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่เพียงประมาณ 200-250 ล้านบาท โดยจ่ายให้กับองค์กรและเครือข่ายเดิม ๆ มาหลายสิบปีแต่ก็ไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้”

“แต่อังกฤษที่เปิดกว้างยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมให้ถูกกฎหมายโดยไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ ต้องถือว่า สสส. ล้มเหลวในการควบคุมบุหรี่ และควรต้องมีการตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณหรือประเมินความสำเร็จของการรณรงค์เหล่านั้น เพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ ไม่เช่นนั้นเป้าหมายใหม่ตามร่างแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบ ฉบับที่ 3 ที่ต้องการให้เหลือผู้สูบบุหรี่เพียง 14% ภายในปี 2570 ก็คงเป็นไปไม่ได้”