โรคระบาดหรือโรคลำบาก
จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เรียกกันว่า“social distancing”หรือ“การเว้นระยะห่างทางสังคม”ซึ่งความลำบากนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจ
ไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดที่แพร่เชื้ออย่างรวดเร็วและรุนแรงให้แก่ผู้คนมากมายทั่วโลก แต่ยังเป็นโรคที่สร้างความลำบาก หรือ “โรคลำบาก” ของใครหลายๆคน จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เรียกกันว่า “social distancing” หรือ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ซึ่งความลำบากนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ของโลกและของประเทศไทยจากการที่ธุรกิจและอาชีพบางประเภทต้องประสบกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัสในการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้งในปัจจุบันการเข้าถึงวัคซีนของคนทั่วโลกยังมีความยากลำบาก ทำให้เรามีโอกาสที่จะต้องอยู่กับวิกฤต โควิด-19 ไปอีกนาน ในบทความนี้ คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอ “ทางออก” สำหรับบางกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยข้อมูลที่ใช้ในการการวิเคราะห์ในบทความนี้ คณะผู้เขียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนางานในอาชีพต่างๆที่สามารถทำการทดแทน/ส่งเสริมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computerization) เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤต โควิด-19 และ โรคระบาดในอนาคตสำหรับประเทศไทยอย่างยั่งยืน
อาชีพใดบ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
Aristotle กล่าวไว้ว่า “Man is by nature a social animal” หรือกล่าวง่ายๆก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นในการทำงานเพื่อประกอบอาชีพก็เช่นกัน การจะให้มนุษย์แยกตัวออกจากกันเพื่อลดปฏิสัมพันธ์จึงเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” ที่หลายคนไม่เคยคาดคิดมาก่อน ดังนั้นสำหรับหลายอาชีพการเว้นระยะห่างทางสังคมจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากอ้างอิงงานวิจัยของ Koren และ Peto (2020) ซึ่งใช้ข้อมูลจาก O*NET ของกระทรวงแรงงานประเทศสหรัฐอเมริกาจะพบว่า หากอาชีพใดมีลักษณะของการทำงานที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม การทำงานที่ต้องพบปะลูกค้า และการทำงานที่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะที่ อาชีพเหล่านี้จะมีปัญหาและอุปสรรคจากการเว้นระยะห่างทางสังคม
อาชีพแบบไหนที่เทคโนโลยีน่าจะเป็น “ทางออก”
เทคโนโลยีน่าจะสามารถเป็น “ทางออก” ให้กับหลายๆอาชีพสำหรับการปรับตัวในยุคที่การทำงานจำเป็นจะต้องประยุกต์ใช้การเว้นระยะห่างทางสังคม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกอาชีพสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมหรือทดแทนการทำงานของคนได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการพัฒนาไปอย่างมากแล้ว แต่ก็ยังมีงานหลายประเภทที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนการทำงานของคนได้ เช่น บางลักษณะงานของทันตแพทย์เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะที่มีความละเอียดอ่อน หรือ งานที่ต้องอาศัยการตัดสินของคน เช่น งานผู้พิพากษาเป็นต้น เพื่อให้เข้าใจประเด็นที่สำคัญนี้ คณะผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษา หาคำตอบว่าอาชีพไหนบ้างที่เทคโนโลยีที่อาศัยระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถเข้ามาส่งเสริมหรือทดแทนได้ โดยอาศัยข้อมูลความน่าจะเป็นที่ระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถเข้ามาส่งเสริมหรือทดแทนอาชีพ (probability of computerization) กว่า 700 อาชีพจาก Frey และ Osborne (2017) ซึ่งคณะผู้เขียนพบว่า มี 3 กลุ่มอาชีพที่มีอุปสรรคจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในระดับสูง แต่มีเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและช่วยลดปัญหาจากการเว้นระยะห่างทางสังคมไปพร้อมกันได้
ดังนั้นการปรับตัวอย่างเหมาะสมอย่างเช่นการเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่พร้อมอยู่แล้วในการทำงาน จึงเป็นทางออกและเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพของตนเองและองค์กรอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้โดรนการเกษตรในการพ่นยา สามารถช่วยลดต้นทุนและสามารถครอบคลุมการพ่นยาได้มากกว่า 100 ไร่ ซึ่งโดยปกติจะต้องใช้เวลาหลายวัน แต่โดรน 1 เครื่องสามารถทำให้เสร็จได้ภายใน 1 วันเท่านั้น หรือ การ “ดำนา” ที่จะเป็นกิจกรรมที่จะต้องใช้คนจำนวนมากซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อไวรัสอย่างทวีคูณ หรือแม้แต่การใช้ระบบการจ่ายเงินแบบอีเพย์เมนต์ให้แพร่หลาย ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่สามารถทำให้มีการใช้ระบบอีเพย์เมนต์สูงถึง ร้อยละ 80 ถึง 90 นอกจากจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการขายแล้ว ยังลดโอกาสที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องใกล้ชิดกัน หรือ แพร่เชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสธนบัตรหรือเหรียญอีกด้วย
การอยู่ร่วมกันของคนกับเทคโนโลยี
โรคโควิด-19 ไม่เพียงแต่นำความเจ็บป่วยทางกายมาให้ผู้คน แต่ยังได้นำความเจ็บปวดในแง่ของการดำรงชีวิตและการทำงานมาด้วย ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นทางออกหนึ่งที่หลายๆคนอาจกังวลว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่คน Ginni Rometty อดีต CEO ของ บริษัท IBM ได้เคยกล่าวเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไว้อย่างน่าสนใจว่า “บางคนอาจเรียกสิ่งนี้ว่าปัญญาประดิษฐ์ แต่จริงๆแล้วเทคโนโลยีนี้คือการยกระดับและ เสริมปัญญาของเรามากกว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์” ดังนั้นจริงๆแล้ว หากเรารู้จักแสวงหาความรู้ เพื่อยกระดับทักษะในตัวเรา และเพื่อที่เราจะได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีทั้งหลายอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่อาชีพนั้นๆ การอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีก็จะไม่น่ากลัวอย่างที่หลายๆคนคิด
บรรณานุกรม
Frey, C. B., & Osborne, M. A. (2017). The future of employment: How susceptible are jobs to computerisation?. Technological forecasting and social change, 114, 254-280.
Koren, M., & Peto, R. (2020). Business disruptions from social distancing. Plos one, 15(9), e0239113.
Martin, N. (2019, June 27). 13 Best Quotes About The Future Of Artificial Intelligence. Forbes. https://www.forbes.com/sites/nicolemartin1/2019/06/27/13-greatest-quotes-about-the-future-of-artificial-intelligence/?sh=d5eaad83bdfa
บทความนี้เขียนโดย
- ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน
- ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์
- รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส
- ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ
- ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์
คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย