เปิดคัมภีร์เจ้าพ่อเช่าบริหารที่ดิน-โรงแรม'วุฒิพล ถาวรธวัช'ยูเอชจี กรุ๊ป
“วุฒิพล ถาวรธวัช” ผู้บุกเบิกโมเดล “เช่าบริหาร” ที่ดิน-โรงแรม มานานกว่า 10 ปี ภายใต้ เออร์เบิน ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป หรือ ยูเอชจี กรุ๊ป ผู้ลงทุนและบริหารโรงแรมระดับ 4 ดาวภายใต้แบรนด์ เดอะ ควอเตอร์ บาย ยูเอชจี จำนวน 14 แห่ง ในกรุงเทพฯ จำนวน 2,000 ห้อง ที่สามารถฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19
“วุฒิพล ถาวรธวัชเสถียร” กรรมการผู้จัดการ เออร์เบิน ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป หรือ ยูเอชจี กรุ๊ป ผู้ลงทุนและบริหารโรงแรมระดับ 4 ดาว ภายใต้แบรนด์ เดอะ ควอเตอร์ บาย ยูเอชจี แนะคัมภีร์การดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่งและยืนหยัดต่อสู้แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามรอบด้านว่า จะต้องใส่ใจในรายละเอียดทุกมิติ ยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติต้องปรับตัวให้ทันแบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งภายในและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโรงแรมในแต่ละทำเลจะกลุ่มค้าแตกต่างกันออกไป จึงจำเป็นที่ต้องเข้าในความต้องการของลูกค้าเชิงลึก เพื่อให้บริการได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้วิกฤตโควิด ยูเอชจี กรุ๊ป มีผลประกอบการติดลบแค่เดือน เม.ย.2563 เพียงเดือนเดียว! ที่มีการล็อคดาวน์ เนื่องจากมีการปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาทำ “โฟกัส” ตลาดคนไทย เน้นโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ พร้อมทั้งปรับราคาขายลงมาต่ำกว่า 1,000 บาทต่อห้องต่อคืน สามารถเข้าถึงกลุ่มคนไทยได้ง่าย ส่งผลให้สัดส่วนลูกค้าคนไทยเพิ่ม 90% ทำไม่ต้องปิดบริการเหมือนโรงแรมอื่น
“จุดแข็งของเราคือการปรับตัวเร็ว มีอีโคโนมี ออฟ สเกล ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี เพราะมีหลายโรงแรม ต้นทุนหลักๆ เป็น ค่าเงินเดือน ค่าเช่า ค่าไฟ”
จากผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสวนกระแสโควิด ทำให้บรรดาเจ้าของที่ดินและโรงแรมหลายรายติดต่อมาให้เข้าไปเช่าบริหารให้ เพราะเป็นโมเดลที่ทำให้เจ้าของมีรายได้ประจำ ขณะที่ทาง ยูเอชจี กรุ๊ป ไม่ต้องเสียเวลาลงทุนก่อสร้างใหม่เช่ามาบริหารต่อถือ เป็น “win-win situation” ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ อาทิ โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ หัวลำโพง บาย ยูเอชจี จำนวน 150 ห้อง และโรงแรมศิริสาทร กรุงเทพ บายยูเอชจี ซอยศาลาแดง จำนวน 167 ห้อง เป็นต้น
ปัจจุบัน โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ บาย ยูเอชจี ที่มีอยู่จำนวน 14 แห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ตั้งแต่ระลอกแรกในปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดิมเคยมีสัดส่วนประมาณ 70% หายไป แต่หลังจากเปิดประเทศเดือน พ.ย. กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา 40% ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย รองลงมาคือ ยุโรป อเมริกา ทำให้อัตราการเข้าพักสูงถึง 90% ขณะที่กลุ่มคนไทยมีสัดส่วนลดเหลือ 60%
“สถานการณ์ที่ดีขึ้นทำให้ ยูเอชจี กรุ๊ป สามารถปรับขึ้นราคาห้องพักได้แล้วเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 แต่บางทำเลอย่างลาดพร้าว อารีย์ สีลม ค่าห้องสูงกว่าก่อนโควิดแล้ว 20% ยกเว้นบางทำเล ที่มีกลุ่มลูกค้าจีนเป็นหลักอย่างเอเวอร์กรีน เพลส สยาม บาย ยูเอชจี ยอดยังต่ำกว่า 15-20%”
วุฒิพล กล่าวว่า แนวทางการลงทุนจะให้ความสำคัญกับโลเกชั่นกลางเมืองและติดรถไฟฟ้าเพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาพักเพราะสะดวกในการเดินทาง เชื่อว่า ยังคงมีดีมานด์อีกมากหลังจากที่สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น
ล่าสุดมีแผนเปิดโรงแรม 2 แห่ง โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ เจ้าพระยา บาย ยูเอชจี มูลค่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 250 ห้อง เปิดให้บริการกลางเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนโครงการสุขุมวิท ฮิลล์ สุขุมวิท 58 ซึ่งประกอบด้วย โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ อ่อนนุช บาย ยูเอชจี จำนวน 100 ห้อง 8 ชั้น และมีพื้นที่รีเทล เปิดให้บริการแล้ว ส่วนอาคารสำนักงานสูง 20 ชั้น ขนาด 10,000 ตร.ม. ตามแผนจะเปิดให้บริการไตรมาส 1 ปี 2566
จากประสบการณ์กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของ วุฒิพล ตลาดกรุงเทพฯ มีศักยภาพสูง เนื่องจากเป็นเมืองหลวงติดอันดับหนึ่งในเมืองที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกชื่นชอบมากที่สุด เพราะบริการทุกอย่างมีมาตรฐาน อาหารอุดมสมบูรณ์ สามารถรองรับฐานลูกค้าที่มีความหลากหลายไม่ว่าเป็นการพักผ่อน หรือการทำงาน ทำให้ตลาดโรงแรมในกรุงเทพฯ ยังคงอยู่ได้แม้จะเผชิญภาวะวิกฤติ
ส่วนเมืองท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต สมุย หรือ พัทยา แม้ว่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง แต่ก็เป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกันเพราะเมื่อไหร่ที่นักท่องเที่ยวตลาดหลักได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหรือโรคระบาดลูกค้าหายไปทันที จึงเป็นเหตุผลที่ยังคงโฟกัสอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นเอง
“ความน่าสนใจของกรุงเทพฯ คือไม่ได้เป็นเพียงเมืองท่องเที่ยว แต่ยังมีความต้องการห้องพักจากการติดต่อธุรกิจ ติดต่อหน่วยราชการ สถานทูต สถานศึกษา ประชุม สัมมนา ฝึกอบรม ตรวจสุขภาพ รักษาโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงการหาห้องพักเพื่อพักผ่อนหย่อนใจหรือเปลี่ยนบรรยากาศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของกลุ่มมิลเลนเนียลส์ที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน ร้านค้าในท้องถิ่น”