"บ้านหรู" โอเวอร์ซัพพลาย คนรายได้น้อย "ไร้บ้าน"
คนไทยผลิตสินค้า/บริการ ไม่ว่าใครมาซื้อย่อมดีต่อเศรษฐกิจประเทศทั้งนั้น แต่ในเมื่อนกต้องมีรัง คนต้องมีบ้าน ทำอย่างไรให้คนไทยผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
ได้ข่าวจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566 มีโอกาสติดลบ 5-6% สาเหตุมาจากหลายปัจจัยตั้งแต่ทิศทางดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น อาจจะสูงขึ้น 0.75-1% ในปีนี้
ทั้งนี้ ต้องติดตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างใกล้ชิด ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวขึ้นตามประสาเงินเฟ้อของแพงอะไรๆ ก็แพงไปหมด บ้าน คอนโดฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ไม่ใช่ข้อยกเว้น นอกจากนี้ยังไม่มีการผ่อนปรนมาตรการแอลทีวีแล้ว และที่สำคัญรายได้ประชาชนยังปรับตัวไม่ดีนัก
อีกหนึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยคือ ภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงถึงเกือบ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เมื่อหนี้สินล้นพ้นตัวย่อมยากที่สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อ เกรงว่าให้ไปแล้วจะเป็นเอ็นพีแอล
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางจึงเข้าถึงสินเชื่อและที่อยู่อาศัยได้ยาก ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็น ส่วนตลาดบนไม่ต้องพูดถึงมีกันไม่รู้กี่หลังแล้วทำให้ดีมานด์ที่อยู่อาศัยจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ต่ำกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง หากจำกันได้ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ประชาชนได้รับผลกระทบถ้วนทั่ว ยิ่งรายได้น้อยยิ่งเจ็บมาก ขาดแคลนกำลังซื้อ บริษัทอสังหาฯ หันไปพัฒนาโครงการระดับไฮเอนด์ เทรนด์นี้มีมาต่อเนื่อง
เช็กข่าวตั้งแต่ปลายปี 2565 หลายบริษัททยอยเผยแผนธุรกิจประจำปี 2566 รุกบ้านพรีเมียมชิงเค้กกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ระดับราคา 10-40 ล้านบาท ตัวเลขบ่งบอกชัดเจน ปี 2565 จำนวนบ้านแนวราบเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยเฉพาะการเปิดตัวโครงการบ้านระดับลักซ์ชัวรีและซูเปอร์ลักซ์ชัวรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องการพื้นที่ใหญ่ขึ้นและมีฟังก์ชันที่รองรับการทำงานและการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ แต่ล่าสุดแว่วๆ ว่า บ้านไฮเอนด์อาจจะโอเวอร์ซัพพลายเพราะใครๆ ก็ลงมาเล่นตลาดนี้
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมความหวังยังอยู่ที่ชาวจีนด้วย ผู้ประกอบการหลายรายรอให้ลูกค้าจีนที่ซื้อหรือวางเงินดาวน์ไว้แล้วมาโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งนับจากนี้จะทำได้สะดวกขึ้นกว่าเมื่อช่วงล็อกดาวน์โควิด ในปี 2566 ธอส.มองว่า การเข้ามาของต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนในครึ่งปีแรกยังอยู่ในช่วงการพิจารณาตัดสินใจ หากสามารถดึงดูดจากการท่องเที่ยว เปิดวีซ่าระยะยาวให้มีความมั่นใจเทียบเท่าคู่แข่งประเทศใกล้เคียงจะทำให้ชาวจีนตัดสินใจซื้อมากขึ้น
ที่ยกเรื่องนี้มาพูดคีย์เวิร์ดมีอยู่ไม่กี่คำ คนไทยกำลังซื้อลดลง ตลาดบ้านหรูโอเวอร์ซัพพลาย ลูกค้าคอนโดฯ ชาวจีน ยืนยันว่า นี่ไม่ได้กีดกันลูกค้าชาติใด คนไทยผลิตสินค้า/บริการ ไม่ว่าใครมาซื้อย่อมดีต่อเศรษฐกิจประเทศทั้งนั้น แต่ในเมื่อนกต้องมีรัง คนต้องมีบ้าน ทำอย่างไรให้คนไทยผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ฝากรัฐบาลและผู้ที่อยากเป็นรัฐบาลไปพิจารณา เพราะ “บ้านคือวิมานของเรา”