กำลังซื้อหดดันตลาดเช่าแนวรถไฟฟ้าโตดีมานด์เช่าพุ่ง 118%

กำลังซื้อหดดันตลาดเช่าแนวรถไฟฟ้าโตดีมานด์เช่าพุ่ง 118%

จับตาเทรนด์ตลาดเช่าแนวรถไฟฟ้าโต แหล่งงานบูม หลังกำลังซื้อหดตัวสะท้อนดีมานด์เช่าพุ่ง 118% ผู้ประกอบการหวังรัฐบาลใหม่ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดึงกำลังซื้อฟื้น

รายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q2 2566 ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty เผยข้อมูลเชิงลึกของตลาดอสังหาฯ ไทยในไตรมาสล่าสุด หลังโควิด-19 ความท้าทายด้านการเงิน และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่กลับมา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดเช่ามีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะในทำเลแหล่งงาน และแนวรถไฟฟ้าสายปัจจุบัน

เห็นได้ชัดจากความต้องการเช่าที่เพิ่มขึ้น 118% จากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ และอาจกลายเป็นเทรนด์สำหรับคนยุคปัจจุบันที่ต้องการความยืดหยุ่นในการอยู่อาศัยโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ และไม่ต้องการมีภาระหนี้ระยะยาว จึงนับเป็นโอกาสของผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาฯ เพื่อลงทุนปล่อยเช่าเช่นกัน 

     

แน่นอนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคเฝ้ารอ สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองต่อจากนี้คือ ความชัดเจนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาดีดังเดิม 

"ผู้พัฒนาอสังหาฯ และผู้บริโภคต่างคาดหวังนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ ที่จะเข้ามาเพิ่มโอกาสให้คนไทยเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้นในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ให้ฟื้นตัวดีดังเดิมเช่นกัน” นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าว
 

ดัชนีค่าเช่าเริ่มกระเตื้อง แม้ดีมานด์ผู้เช่ารอบไตรมาสยังไม่ฟื้น ภาพรวมดัชนีค่าเช่าในกรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% QoQ หรือเพิ่มขึ้น 3% YoY แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ อยู่ถึง 10% โดยเมื่อแบ่งตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า มีเพียงทาวน์เฮ้าส์เท่านั้นที่มีดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้น 2% QoQ (ทรงตัวจากปีก่อนหน้า) ขณะที่บ้านเดี่ยวลดลง 6% QoQ (ลดลง 18% YoY) ด้านคอนโดฯ ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อน (เพิ่มขึ้น 2% YoY)  

กำลังซื้อหดดันตลาดเช่าแนวรถไฟฟ้าโตดีมานด์เช่าพุ่ง 118%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ พบว่า ดัชนีค่าเช่าของที่อยู่อาศัยแนวราบยังมีทิศทางเติบโต โดยบ้านเดี่ยวมีดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้น 8% และทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 4% สวนทางกับคอนโดฯ ที่ดัชนีค่าเช่าปรับลดลงถึง 12% จากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดเช่าคอนโดฯ ยังมีการแข่งขันสูง ผู้ให้เช่าบางส่วนจึงใช้กลยุทธ์ปรับลดราคาให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคเพื่อดึงดูดการตัดสินใจเช่า   

 ด้านจำนวนที่อยู่อาศัยสำหรับเช่านั้น แม้คอนโดฯ จะครองสัดส่วนมากที่สุดถึง 93% ของจำนวนที่อยู่อาศัยสำหรับเช่าทั้งหมดในกรุงเทพฯ แต่มีสัดส่วนลดลง 2% QoQ ต่างจากจำนวนที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีการปรับเพิ่มในรอบไตรมาส ส่งผลให้บ้านเดี่ยวมีสัดส่วนเพิ่มมาอยู่ที่ 4% และทาวน์เฮ้าส์มีสัดส่วนอยู่ที่ 3% (เพิ่มขึ้นในสัดส่วนเท่ากันที่ 1% QoQ) ทำให้ตลาดเช่ามีตัวเลือกที่อยู่อาศัยแนวราบที่หลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เช่าที่มีครอบครัวมากขึ้น 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์