เอสซีจีผนึกศุภาลัยฟื้นฟูทะเลไทยเปลี่ยนเศษคอนกรีตสร้างบ้านปะการัง
เอสซีจีผนึกศุภาลัย ร่วมฟื้นฟูทะเลไทย ผ่านโครงการ "รักษ์ทะเล" เปลี่ยนเศษคอนกรีตเหลือใช้จากไซต์งานก่อสร้างผ่านกระบวนการย่อยและคัดแยกเพื่อนำมาเป็นส่วนผสมผลิตปูนซีเมนต์มาสร้างบ้านปะการังด้วยนวัตกรรมจาก CPAC 3D Printing Solution
นายณรงค์ศักดิ์ ตันติธนกิจ ผู้อำนวยการกิจการ ซีแพคภาคตะวันออก บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายของ "เอสซีจี ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล ตามแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ 1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ และมีความเป็นธรรม โปร่งใสทุกการดำเนินการ
โดยที่ผ่านมาโครงการ "รักษ์ทะเล" เป็นโครงการที่เอสซีจี มุ่งมั่นในการยกระดับพัฒนานวัตกรรมมาปรับใช้ นอกจากมาตรฐานการอยู่อาศัย ได้ต่อยอดการใช้นวัตกรรมจาก CPAC 3D Printing Solution มาใช้ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรของประเทศ อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ให้ความเคารพต่อธรรมชาติและทุกชีวิตในท้องทะเลด้วยบ้านปะการัง ซึ่งนวัตกรรมบ้านปะการังนี้ เหมาะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ ผลิตจากปูนซีเมนต์รักษ์โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ที่ช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรท้องทะเลไทยได้อย่างยั่งยืน
โครงการ "รักษ์ทะเล" นับเป็นโครงการความร่วมมือที่มุ่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลไทย สร้างความมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และชุมชนคนรุ่นใหม่ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จากทาง ศุภาลัย ที่ได้ร่วมสนับสนุนในโครงการ "รักษ์ทะเล" นับเป็นต้นแบบการสร้างความมีส่วนร่วมจากพันธมิตรทางธุรกิจ ในการร่วมสนับสนุนเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือกันในอนาคตและสามารถขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนถึงคนรุ่นต่อๆ ไป
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศุภาลัยดำเนินการธุรกิจควบคู่กับยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้งในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ โดยในปีนี้ (2566) นอกจากบริษัทฯจะตั้งมั่นสร้างสรรค์โครงการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศแล้ว ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้าง 'บ้าน' ให้กับปะการัง เพื่อคืนความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการังและสัตว์น้ำใต้ท้องทะเลไทย
จึงได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ "รักษ์ทะเล" ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพันธมิตรธุรกิจอย่าง SCG โดย CPAC Green Solution จากการนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ
โดย "ศุภาลัย" ได้นำเศษคอนกรีตรีไซเคิลในกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งเกิดจากนำลูกปูนที่ใช้ในการทดสอบกำลังอัดคอนกรีต มาเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูน ทำให้วัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังที่ผลิตโดยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution นั้น มีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แข็งแรง ทนทาน และทำมาจากปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน
ศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda กล่าวว่า มูลนิธิมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักรู้ เพื่อฟื้นฟูการอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมสร้างความมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ เครือข่ายนักดำน้ำ และผู้มีจิตอนุรักษ์ ตลอดจนการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเล
เช่น โครงการหญ้าทะเล โครงการจัดทำขาเต่าเทียม และโครงการล่าสุด กับโครงการ "รักษ์ทะเล" มูลนิธิเป็นตัวกลางในการเปิดขอรับการสนับสนุนระดมทุน เพื่อผลิตและจัดวางบ้านปะการัง "บ้านปะการัง" ด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D PrintingSolution นับเป็นนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้เป็นโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกใต้ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศหลักและเป็นแหล่งกำเนิดของหลากหลายชีวิต สำหรับผู้ที่สนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการ "รักษ์ทะเล" รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง เพื่อให้ท้องทะเลไทยกลับมาสวยงามดังเดิม