“ออลล์ อินสไปร์”จ่อยื่นฟื้นฟู ลูกค้าแห่เรียกคืนเงินสัญญา
จับตาออลล์ อินสไปร์ ดิ้นหาทางออกกรณีถูกระงับการซื้อขายโครงการอสังหาฯ หลังขาดทุนสะสมหนัก พบลูกค้าแห่ร้องเรียนเรียกคืนเงินตามสัญญาซื้อขาย เหตุโครงการสร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา
ประเด็นร้อนในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย นาทีนี้ หนีไม่พ้น กรณี บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม โครงการ อิมเพรสชั่น เอกมัย,ไรส์ พหล-อินทามระ และดิ เอ็กเซล โดนระงับการซื้อขาย หลังบริษัทขาดสภาพคล่อง ขาดทุนสะสม 2.5 พันล้าน
ออลล์ อินสไปร์ กลายเป็นประเด็นใหญ่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. เมื่อนายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า
ตามที่บริษัทได้นำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ของบริษัท ซึ่งผู้สอบบัญชีได้สอบทานและรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็นต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทาน ดังนี้
ขาดสภาพคล่องรุนแรง
1.การขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตามที่ได้เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1 ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2566 ในงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ กลุ่มบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 1 ล้านบาท และ 0.83 ล้านบาท ตามลำดับ
หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 1,943.07 ล้านบาท และ 1,912.83 ล้านบาท ตามลำดับ และการผูกพันในการจ่ายชำระค่าซื้อที่ดินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 1,523.22 ล้านบาท และ 1,433.65 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีผลขาดทุนเกินทุน 781.27 ล้านบาท และ 617.74 ล้านบาท ตามลำดับ และขาดสภาพคล่องทางการเงิน
จึงเป็นเหตุให้กลุ่มบริษัทไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในปัจจุบันต่อได้ ผิดนัดชำระหนี้ทั้งจากเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เงินกู้ยืม จากบุคคลภายนอก เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ รวมถึงผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้และผิดนัดชำระคืนเงินรับล่วงหน้าจากลูกค้า
ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาเงินเพื่อชำระหนี้สิน แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่สามารถเพิ่มทุนได้ตามแผนธุรกิจเดิมและแผนการขายสินทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้มีความล่าช้า
และเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และการจัดจ้างสำนักงานทนายความเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
หนี้สินหมุนเวียนกว่า 5.3 พันล้าน
2.การผิดนัดชำระหนี้ ตามที่ได้เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1 ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2566 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนเป็น จำนวนเงิน 5,321.55 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจำนวนมาก
3.การถูกฟ้องร้อง ตามที่ได้เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 20 ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2566 บริษัทฯ ถูกฟ้องร้องจากสถาบันการเงิน บริษัทอื่น และบุคคลธรรมดาหลายรายในคดีต่างๆ จากการผิดสัญญา การเรียกร้องค่าเสียหายและอื่นๆ
โดยมีทุนทรัพย์สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการ รวมจำนวน 317.01 ล้านบาท ปัจจุบันคดีความอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลสถานการณ์ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นมีผลกระทบและมีความเกี่ยวข้องกัน โดยแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินที่มีสาระสำคัญในงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ
บริษัทใคร่ขอเรียนชี้แจงว่าการที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็นต่องบการเงินของบริษัท สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหารแต่เกิดจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญตามสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น
ลูกค้าแห่ร้องเรียนเรียกเงินคืน
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ลูกค้า ร้องเรียนเพื่อเรียกคืนเงินตามสัญญาซื้อขาย จากโครงการของที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและยังสร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญาจาก 4 โครงการ ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมในกรุงเทพ ได้แก่ 1.โครงการ ไรส์ พหล-อินทามระ เป็นคอนโดสูง 40 ชั้น จำนวน 384 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,600 ล้านบาท โครงการแรกของออลล์ อินสไปร์ ติดถนนสุทธิสารวินิจฉัย ที่สร้างได้แค่ชั้น 2 แต่ตามสัญญา ระบุว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 31 ธ.ค. 2564
2.โครงการดิ เอ็กเซล ลาซาล 17 เป็นคอนโด 8 ชั้น 4 อาคาร จำนวน 581 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,335 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผู้จองซื้อร้องเรียนว่าโครงการไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างและสร้างไม่เสร็จตามสัญญา ระบุว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธ.ค.2564 ต่อมาทางออลล์ อินสไปร์ ได้ขายที่ดินและโครงการให้กับบริษัท เรียลแอสเสท ของตระกูลจึงรุ่งเรือง มูลค่า 480 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 หลังจาก ออลล์ อินสไปร์ มีปัญหาขาดสภาพคล่องและกระแสเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ รุ่น ALL244A ที่ครบกำหนดจ่ายในวันที่ 3 ม.ค .2566 จำนวน 10.5 ล้านบาท
3.โครงการดิ เอ็กเซล ไฮด์อะเวย์ รัชดา-ห้วยขวาง คอนโดสูง 8 ชั้น 3 อาคาร 592 ยูนิต มูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท ยังสร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญาว่า สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธ.ค.2562
4.โครงการ ดิ เอ็กเซล ไฮด์อะเวย์ สุขุมวิท 50 คอนโดสูง 8 ชั้น 4 อาคาร 772 ยูนิตมูลค่า 1,900 ล้านบาท ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ (ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด ก.พ.2563 ซึ่งทางกลุ่มผู้เสียหายฯได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อต้องการยกเลิกสัญญา พร้อมเรียกเงินคืนทั้งหมด
พบโครงการไม่เริ่มสร้าง-หยุดก่อสร้าง
นอกจากนี้ยังมีโครงการอิมเพรสชั่น เอกมัย เป็นโครงการคอนโดใจกลางเอกมัย 2 อาคาร สูง 25 ชั้น และ 43 ชั้น มูลค่า 5,000 ล้านบาทซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น ในนาม เอเอชเจ เอกมัย จำกัด ปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง หลังจากที่ได้ยื่นขอ EIA ตั้งแต่ปี 2562 ส่วนในต่างจังหวัด มีโครงการอิมเพรสชั่น ภูเก็ต หยุดการก่อสร้าง
โดยก่อนหน้าที่จะมีการฟ้องร้องกลางเดือน พ.ค.2565 นาย ธนากร ออกมาประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ ภายใต้แนวคิด “All New Era” ที่มองหาโอกาสใหม่ จากน่านน้ำใหม่เพื่อรองรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการลงทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจบริหารหนี้สิน และ ธุรกิจคาร์บอนเครดิต โดยการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯให้เหลือ 10% เท่านั้น
หลังจากนั้นไม่กี่วันบริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน)หรือ CMC ได้เข้าเทคโอเวอร์ โครงการดิ เอ็กเซล รัชดา 18 เป็นคอนโด 8 ชั้น 2 อาคาร จำนวน 270 ยูนิตมูลค่ากว่า 800 ล้านบาทจาก ออลล์ อินสไปร์ ในสัดส่วน 30% ของยูนิตทั้งหมด ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทพระยาพาณิชย์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือ PPP (ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ CMC) ที่มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท
ต้องจับตามองว่า ผู้บริหารบริษัท ออลล์ อินสไปร์ จะหาทางออกจากปัญหาผิดนัดชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นอย่างไรต่อไป รวมถึงแนวคิดการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ