อสังหาฯฝ่าสุญญากาศทางการเมืองดีมานด์ฟุบตลาดเช่าพุ่ง
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เผยภาพรวมอสังหาฯฝ่าสุญญากาศทางการเมือง เศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาวะหนี้ครัวเรือนกระทบดีมานด์ฟุบ สวนทางตลาดเช่าพุ่งขึ้นถึง 13%
ข้อมูลล่าสุดจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q3 2566 ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty เผยภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน (QoQ) แต่ยังลดลง 6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) โดยเป็นการปรับลดลงถึง 10% จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ไตรมาส 2 ปี 2562) สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในระยะยาวยังคงไม่ฟื้นตัวดีดังเดิม
อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในทุกประเภท เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง และค่าแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย
โดยทยอยปรับขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อผู้บริโภคในขณะนี้ ส่งผลให้ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวปรับเพิ่มมากที่สุด 2% QoQ ขณะที่ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเท่ากันที่ 1% QoQ ทั้งนี้ หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ พบว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยดัชนีราคาของบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ปรับเพิ่มขึ้น 13% และ 6% ตามลำดับ มีเพียงคอนโดฯ ที่ดัชนีราคาลดลงมากที่สุดถึง 25%
นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีนี้มีสัญญาณเติบโต แต่ไม่หวือหวาอย่างที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีปัจจัยท้าทายรอบด้าน ทั้งจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัว ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่ข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 55.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ประกอบกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการวางแผนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคกังวลต่อดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ที่กำลังผ่อนบ้านก็มีภาระเพิ่มขึ้นและต้องใช้ระยะเวลาผ่อนชำระนานขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ผันผวนได้เสมอ
“ภาพรวมดัชนีราคาในตลาดอสังหาฯ ไตรมาสล่าสุดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยตามกลไกตลาดในทุกประเภทที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับความต้องการซื้อที่ลดลงจากปัจจัยแวดล้อมที่กระทบด้านการเงิน ซึ่งสร้างความท้าทายและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงเลือกชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต”
ดังนั้น หากผู้บริโภคต้องการจะซื้อบ้าน/คอนโดฯ ในเวลานี้ควรเช็กสภาพคล่องทางการเงินก่อนเป็นอันดับแรก ต้องมีการวางแผนการเงินที่รัดกุมและรอบคอบ รวมทั้งมีการสำรองเงินเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน และลดการสร้างรายจ่ายที่ไม่จำเป็นที่อาจก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่ม หรือเลือกซื้อโครงการบ้านมือสองซึ่งมีต้นทุนราคาที่ถูกกว่า หรือเลือกเช่าที่อยู่อาศัยซึ่งตอบโจทย์ทางการเงินมากกว่าแทน” นายวิทยา กล่าว
เทรนด์เช่าโตต่อเนื่อง
“จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้เทรนด์การเช่าที่อยู่อาศัยเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยความต้องการเช่าล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 108% ขณะที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 7% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ Generation Rent ที่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่เน้นเช่ามากกว่าซื้อ ส่งเสริมให้ดีมานด์ในตลาดเช่าสูงมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดอสังหาฯ เช่นกัน แต่ด้วยความไม่พร้อมทางการเงิน จึงไม่อยากมีภาระผูกพันระยะยาวจากการเป็นหนี้จากการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย จึงเลือกการเช่าที่มีความยืดหยุ่นและประหยัดรายจ่ายมากกว่าแทน”