มาตรการLTVตัวฉุดรั้งอสังหาฯสกัดกำลังซื้อเรียลดีมานด์
ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เปราะบาง " มาตรการLTV "จากแบงก์ชาติที่ต้องการกันกลุ่มเก็งกำไร กลายเป็นตัวฉุดรั้งภาคอสังหาฯสกัดกำลังซื้อเรียลดีมานด์ แทนส่งผลให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านขอสินเชื่อยากขึ้น
วสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เผยว่า ปัจจัยที่ยังกดดันต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย คงเป็นเรื่องกำลังซื้อที่ชะลอตัว และหนี้สินครัวเรือนที่สูง ทำให้สถานบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันแนวราบมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 30% ส่วนคอนโดมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูงกว่า 50% โดยเฉพาะระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในกู้ลดลง และทำให้ดีมานด์ชะลอการตัดสินใจซื้อ นอกเหนือจากนี้ยังมีมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ( Loan to Value : LTV) ที่มีอยู่เป็นตัวฉุด อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทบทวนอีกครั้ง
“ปีนี้อสังหาฯแนวราบน่าจะมียอดขายโต3-5% เพราะมีสัดสวนการเปิดตัวสูงกว่าคอนโด60% ขณะที่ราคาขยับขึ้น 5% ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนและค่าแรง ที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนบ้านเพิ่มยขึ้น25-30% ”
ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการที่เป็น"ตัวฉุด" และไม่ส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน คือมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ มาตรการ LTV ที่ต้องการสกัดกลุ่มเก็งกำไร แต่ส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้ต้องการซื้อบ้านที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านหลังแรก และบ้านหลังที่ 2 จึงกดดันทำให้เกิดภาพลบกับตลาด
"ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัวหลังจากครึ่งปีแรกที่ต้องปรับตัวจากภาวะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ในมุมของลูกค้าปรับตัวพอสมควร รวมถึงมาตรการ LTV ที่กลับมาใช้เมื่อต้นปี2566 เชื่อว่าในครึ่งปีหลังที่ปรับตัวกันหมดแล้ว ภาพเศรษฐกิจ การเมืองชัดเจนมากขึ้นจะเห็นภาพที่ดีขึ้น แต่การเติบโตยังไม่มากไม่เกิน 10% "
ไตรเตชะ กล่าวว่า ปีนี้แม้ตลาดอสังหาฯจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า แต่ก็ถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพียงแต่ยังไม่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณกำลังซื้อมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยพิจารณาจาก 2 ปีที่ผ่านมา คนเกิดความไม่มั่นใจจึงซื้อโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอน ขณะที่ในช่วงครึ่งปีนี้ เริ่มมีการซื้อโครงการเปิดตัวพรีเซลมากขึ้น
ปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงถือเป็นทิศทางจะดีขึ้นชัดเจนในปี 2567 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลต่ออสังหาฯ จะต้องมาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานในการลงทุน รถไฟฟ้า ถนนสายใหม่ ปรับปรุงระบบ ในชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้ภาคอสังหาฯ มั่นใจกล้าที่จะลงทุนโครงการใหม่ๆ
"ส่วนการฟื้นตัวของตลาดคอนโดมิเนียมเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ลูกค้าเริ่มเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากขึ้น ซื้อคอนโดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือเพิ่งเริ่มสร้าง จากเดิมที่จะเลือกซื้อคอนโดที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่มากกว่า ส่วนแนวราบเชื่อว่าเมื่อลูกค้าคลายความกังวลเรื่องดอกเบี้ยที่แม้จะปรับขึ้นอีกก็คงไม่มากแล้ว รวมถึงการปรับตัวของราคาใหม่จากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีนี้ไม่ได้ปรับขึ้นมาก น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น"