‘แอลพีพี’เดินหน้าลุยนิวเอสเคิร์ฟรุก‘ซ่อมบำรุงอาคารเก่า’คู่แข่งน้อย

‘แอลพีพี’เดินหน้าลุยนิวเอสเคิร์ฟรุก‘ซ่อมบำรุงอาคารเก่า’คู่แข่งน้อย

แอลพีพี บริษัทในเครือแอลพีเอ็น รับมือตลาดแข่งดุ ปัจจัยลบขึ้นค่าแรงดันเงินเฟ้อพุ่ง พลิกเกมรุกนิวเอสเคิร์ฟ บุกธุรกิจซ่อมบำรุงอาคารเก่า รับขายบ้าน คอนโดมือหนึ่ง รับบริหารเซอร์วิสอาร์พาร์ตเมนต์ เล็งเระดมทุนในตลาดเอ็ม เอ ไอ เม.ย.67 คาดสิ้นปีหน้ารายได้แตะ 1.8 พันล้าน

สถานการณ์ในตลาดมีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 400-450 บาทต่อวัน หนึ่งในนโยบายรัฐบาลนายกรัฐมนตรี  “เศรษฐา ทวีสิน” เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ขณะเดียวกันส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ และกระทบภาคธุรกิจในด้านต้นทุนค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10% โดยเฉพาะธุรกิจรักษาความปลอดภัย ที่มีค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจบริหารจัดการอาคารมีการแข่งขันรุนแรงขึ้นเช่นกัน

นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP ผู้ดำเนินธุรกิจบริการจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร บริษัทในเครือแอลพีเอ็น (LPN) กล่าวว่า จากเดิมบริษัทโฟกัสที่ตลาดธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ ในโครงการคอนโดมิเนียม สำนักงาน ศูนย์การค้า และอาคารประเภทอื่นๆ  บริษัทเริ่มต่อจิ๊กซอว์สู่การบริการโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างครบวงจร เพื่อรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจบริการบริหารจัดการอาคารทั่วประเทศ มูลค่า 20,000-30,000 ล้านบาท 

โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่แข่งขันอย่างดุเดือด เมื่อลูกค้าที่เป็นคณะกรรมการโครงการให้ความสำคัญเรื่องราคามากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการจัดการอาคารจากต่างชาติลดราคาลงมาชนกับผู้ให้บริการจัดการอาคารในประเทศมากขึ้น
 

ปรับค่าแรง-โอที รปภ. ดันต้นทุนพุ่ง

“รวมทั้งนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-450 บาทต่อวันของรัฐบาลจากเดิมที่อยู่ที่ 353 บาท ในกรุงเทพฯ  ล่าสุดทางกระทรวงแรงงาน เตรียมออกกฎกระทรวง ปลดล็อกชั่วโมงการทำงาน ให้ได้รับค่าล่วงเวลา หรือ OT เพิ่มขึ้น 1.5  เท่าของค่าแรง ทำให้นิติบุคคลต้องจ่ายค่าจ้าง รปภ.เพิ่มขึ้น จากหัวละ 20,000 บาท เป็นหัวละ 30,000 บาท สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพราะด้วยธรรมชาติของงาน รปภ.เข้ากะเกิน 8 ชั่วโมง และต่อให้ลดจำนวน รปภ.ลง แต่ทำได้จำกัดนั่นหมายความว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น”

‘แอลพีพี’เดินหน้าลุยนิวเอสเคิร์ฟรุก‘ซ่อมบำรุงอาคารเก่า’คู่แข่งน้อย

นายสุรวุฒิ กล่าวว่า แม้ว่า ปัจจุบันรายได้หลักของแอลพีพี จะมาจากธุรกิจบริหารจัดการโครงการ 60%  อีก 20% มาจาก ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด (LPS) และอีก 20% จาก บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่น จำกัด (LSS) แต่ในอนาคตสัดส่วนเปลี่ยนไป โดยจะมาจากลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด (LPS) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ที่จะเป็น “นิวเอสเคิร์ฟ” ให้กับองค์กร

ทั้งนี้เนื่องจากมีความต้องการสูง ในการรีโนเวทอาคารสูงในกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ 30 ปีที่ผ่านมามีจำนวนมาก และยังมีอาคารใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องการการบำรุงรักษาจากมืออาชีพ เพื่ออัพเกรดอาคารให้ทันสมัย มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตามเทรนด์ประหยัดพลังงาน ไอโอที หรือ สมาร์ตบิวดิ้ง จึงเป็นโอกาสที่ดีของการเข้ามารุกธุรกิจซ่อมบำรุงอาคารเก่า

ปั้นนิวเอสเคิร์ฟเพิ่มรายได้-ลดความเสี่ยง

ล่าสุด ทาง LPS ได้ซื้อหุ้นบริษัท พี ดับบลิว กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (PW Group) 60% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรุกธุรกิจซ่อมบำรุงอาคารเก่าและขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการดําเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผนสร้างนิวเอสเคิร์ฟเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทในระยะยาว 

“ตลาดปรับปรุงอาคารเก่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพสูง คู่แข่งน้อยราย” 

‘แอลพีพี’เดินหน้าลุยนิวเอสเคิร์ฟรุก‘ซ่อมบำรุงอาคารเก่า’คู่แข่งน้อย

พร้อมกันนี้ บริษัทเปิดรับบริหารเซอร์วิสอาร์พาร์ตเมนต์ ในรูปแบบของการลงทุนพัฒนาปรับปรุงอพาร์ตเมนต์ หอพัก และพัฒนางานบริการให้กับอาคารเพื่อสร้างรายได้จากการเช่าในระยะยาว เพิ่มศักยภาพในการขยายรายได้และกำไรของบริษัท ล่าสุดรับงานโครงการ U-Center ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย แอลพีพี ได้รับสัมปทานปรับปรุงหอพัก เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้เช่าและสร้างรายได้จากการเช่าให้แอลพีพี โดยบริษัทมีแผนพัฒนาอีกหลายโครงการของมหาวิทยาลัย และหอพักต่างๆ ที่มีจำนวน 100 ห้องขึ้นไป ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา นอกจากนี้บริษัทยังได้รับขายบ้าน คอนโดมิเนียมมือหนึ่ง สำหรับดีเวลลอปเปอร์รายเล็กที่ไม่มีเซลล์เป็นของตนเอง เริ่มจากโครงการบ้านขนาดเล็กก่อน

เล็งเข้าระดมทุนในเอ็มเอไอปี 67

นายสุรวุฒิ กล่าวว่า จากแผนดังกล่าว บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 2,400 ล้านบาทในปี 2569 ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 1,550 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,800 ล้านบาท ในปีหน้า  หลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เดือน เม.ย. 2567  ซึ่งการระดมทุนจะนำมาใช้ขยายงานตามแผนที่วางไว้ โดยแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)