สิงห์เอสเตทรับมือ‘ปีแห่งการเฝ้าระวัง’ชูแผนลดเสี่ยงจับลูกค้าหลากหลาย
แม่ทัพสิงห์เอสเตท เผยแผนรับมือ ‘ปีแห่งการเฝ้าระวัง’ในปี 2567 งัดกลยุทธ์กระจายลูกค้าหลากหลาย ลดเสี่ยงธุรกิจ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความผันผวนและฟื้นตัวช้า จากปัจจัยลบกำลังซื้อในประเทศเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทุกภูมิภาคทั่วโลกเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จากเดิมคาดการณ์ว่ามีแค่สงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่กลับมีอิสราเอล-ฮามาส เป็นช็อต2! ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังไม่ได้ปรับฉากทัศน์ (Scenario) เนื่องจากไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจะขยายวงหรือไม่
"เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ กระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคทั้งการผลิตและบริโภค โดยเฉพาะภูมิภาคที่เป็นแกนกลางของเหตุการณ์อย่างยุโรป แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอฟเฟกต์ จากภูมิรัฐศาสตร์ ได้ลุกลามไปทั่วโลก"
ปี 2567 เป็นปีแห่งการเฝ้าระวัง ธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ทันเวลา
“เราไม่ประเมินสถานการณ์ต่ำหรือว่าดีจนเกินไป ในฐานะซีอีโอ สายการเงิน มีสกิลความไวในการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยวางแผนเป็นซินาริโอ 1 ซินาริโอ 2 ซินาริโอ 3 ซินาริโอ 4 ไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นแนวทางจัดการปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันเวลา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหาร”
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทย ”ชะลอตัว” จากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเซ็กเมนต์ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับต่างประเทศก็คือ “ท่องเที่ยว” ดังนั้นการที่รัฐบาลเข้ามากระตุ้นภาคท่องเที่ยว ถือว่าถูกต้องและต้องทำ! เพราะอยู่ในช่วงไฮซีซันของธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องทำอะไรก็ได้ให้เร็วที่สุด จากสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเดือน ธ.ค. เฉลี่ย 6.7 แสนคนต่อสัปดาห์ ซึ่งเทียบสัปดาห์ต่อสัปดาห์สูงขึ้น 10% จากเป้าหมายปี 2566 ที่ 28 ล้านคน ทั้งนักท่องเที่ยวจีน ยุโรป เข้ามามากขึ้นทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว
ทั้งนี้ ธุรกิจท่องเที่ยว มีสัดส่วนจีดีพีประมาณ 17% และประเทศไทยเป็น “Dream Destination” ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ หรือเมืองรอง ด้วยความครบทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่สะดวกสบาย อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ค่าครองชีพต่ำ โรงแรมดี บริการดี หัวใจสำคัญ คือ มีภูมิประเทศที่สวยงาม ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวค่อยๆ กลับมา
สำหรับ “สิงห์ เอสเตท” มีหลากหลายธุรกิจ พอร์ตใหญ่สุดคือโรงแรม รองลงมาเป็น ธุรกิจที่พักอาศัย ตามด้วยอาคารสำนักงานและธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยสัดส่วนรายได้มากสุดมาจากธุรกิจ “โรงแรม” ที่กระจายอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐมอริเชียส สาธารณรัฐมัลดีฟส์ และสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ รวมทั้งสิ้น 38 แห่ง ภายใต้แบรนด์ สันติบุรี, เนเบอร์, Outrigger, Castaway, Hard Rock, SAii, Holiday Inn และ Mercure SO/Maldives
“ประเทศหลักมัลดีฟส์และไทยมีความเป็น Destination ซีกตะวันออก ซึ่งเป็นเป้าหมายของซีกตะวันตก เพราะไม่มีภูมิประเทศแบบนี้ในซีกตะวันตก ดังนั้นเมื่อเกิดการชะลอตัวของธุรกิจทางยุโรปก็มีผลกระทบไม่มากก็น้อย แต่โรงแรมของสิงห์ เอสเตท เป็นโรงแรมและรีสอร์ทระดับบน Upscale และ Upper Upscale หรืออยู่ในลักชัวรีเซ็กเตอร์ ฉะนั้นความอ่อนไหวไม่สูงมากเทียบระดับแมส”
ประกอบกับหลังโควิด-19 ผู้คนเดินทางมากขึ้น ต้องการ Experience Journey ซึ่งโรงแรมของสิงห์ เอสเตท อยู่ในประเภทนั้น ไม่ใช่ ซิตี้โฮเทล ผลกระทบจึงไม่สูงมาก การวางกลยุทธ์ในภาวะที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวเน้นการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันคนจีนที่กลับมาเป็นกลุ่มคนรวย โรงแรมในมัลดีฟส์ ของ สิงห์ เอสเตท สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจีนช่วงวันหยุดยาวด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย
“แต่ละช่วงเวลาสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งจะเหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่ต้อง Keep Competitive ตลอดเวลา ต้องไม่คิดว่าคุณเหนือฟ้า ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ฉะนั้นต้องมองหาทางเลือก มีความไว เตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเสมอ”
เป็นเหตุผลที่ สิงห์ เอสเตท พยายามกระจายกลุ่มลูกค้าหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงในทุกธุรกิจไม่ว่าเป็น บ้าน อาคารสำนักงาน หรือโรงแรม เมื่อมีการหายไปของลูกค้าบางธุรกิจ บางเซ็กเมนต์ ยกตัวอย่าง ช่วงที่คนจีนไม่มาก็มีกลุ่มลูกค้าอื่นเข้ามาทดแทน
ส่วนธุรกิจที่อยู่อาศัยเป็นขาที่ 2 ก็โมเดลธุรกิจเช่นเดียวกับโรงแรม ในการเพิ่ม "โอกาส” เข้าถึงลูกค้าใหม่ โดยจะมีแบรนด์ต่างระดับที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าตรงจุดและหลากหลาย เน้นเจาะตลาดบน เช่น คอนโดมิเนียมโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 ทองหล่อ และ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ
ส่วนบ้านแนวราบเน้นกระจายตัวตาม geographic demand เพราะครอบครัวคนไทยเป็นครอบครัวขยาย มีความต้องการตามทำเลในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบัน สิงห์ เอสเตท มีบ้าน 4 เซ็กเมนต์ บนสุดแบรนด์ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส สนนราคา 250 ล้านบาท ล่าสุด แบรนด์ ลาซัวว์ เดอ เอส ราคา 550 ล้านบาทต่อหลัง สูงกว่าเซ็กเมนต์อัลต้าลักชัวรี
ขณะที่ “อัลตราลักชัวรี” ราคาเฉลี่ย 100 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ สมิทธ์ “ชูเปอร์ลักชัวรี” ราคา 50-100 ล้านบาท แบรนด์ ศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส “พรีเมียมลักชัวรี” ระดับราคา 30-50 ล้านบาท แบรนด์สริน “ลักชัวรี” ราคา 10-20 ล้านบาท แบรนด์ ฌอน ทั้ง 4 เซ็กเมนต์ สะท้อนภาพจำของสิงห์ เอสเตท ถึงความเชื่อมั่นที่อยู่ในใจของผู้บริโภคกับสินค้า
“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เรามี 2 ธุรกิจในเซ็กเมนต์ที่อ่อนไหวต่อเศรษฐกิจน้อย บวกกับการกระจายตัวของทำเลทั้งบ้านและโรงแรมในแต่ละภูมิภาครองรับดีมานด์หลากหลายจึงได้รับผลกระทบน้อย”
ขาที่ 3 ของ สิงห์ เอสเตท คือ ธุรกิจอาคารสำนักงาน ซึ่งการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานเปลี่ยนไป ต้องการพื้นที่จำกัด แต่ต้องการพื้นที่ส่วนกลางมากขึ้นเพื่อพบปะสังสรรค์ ระดมสมอง ซึ่งอาคารสำนักงานสิงห์ เอสเตทอยู่ใน 3 ทำเลยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ อาคารซัน ทาวเวอร์ บนถนนวิภาวดี เป็นอาคารเกรดบี อาคาร สิงห์ คอมเพล็กซ์ เป็นมิกซ์ยูสระดับแฟลกชิป ย่านอโศก-เพชรบุรี อาคาร เอส เมโทร ย่านพร้อมพงษ์ และ เอส โอเอซิส อาคารสำนักงานเกรดเอ บนถนนวิภาวดีรังสิต
กลยุทธ์การบริหารจัดการอาคารสำนักงานนอกเหนือจากโลเคชั่น คือ ความ “ยืดหยุ่น” ในการทำสัญญาจากเดิม 3 ปี ลดลงหรือยาวขึ้น กรณีบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการลดต้นทุนสามารถเซ็นสัญญาระยะยาวมากกว่า 3 ปี ตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป บนพื้นที่ขนาดใหญ่ 2,000 ตร.ม. ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เช่าพื้นที่ในรูปแบบ Ready to Move ได้
ส่วนขาที่ 4 ของสิงห์ เอสเตท คือ นิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง ภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Factory & Green industry สำหรับเกษตร อาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ตอบโจทย์เอสเอ็มอี ทำธุรกิจอาหาร ตามเป้าหมาย “Food Valley” เน้นกลุ่มอาหารไม่น้อยกว่า 30% อีก 70% ไม่ใช่อาหารแต่ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่กระทบอาหาร
“ที่ผ่านมาโควิดส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอี ชะลอการลงทุน แต่ข้อได้เปรียบต้นทุนราคาที่ดินถูกกว่าของอยุธยา จูงใจกลุ่มเป้าหมาย และได้แรงงานท้องถิ่นจากจังหวัดใกล้เคียง ลพบุรี สิงห์บุรี ขณะที่แรงงานจากอยุธยา เป็นแรงงานเคลื่อนย้านมาจากอีสาน นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำ 300 ไร่ มีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 3 โรง กำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ รองรับผู้ประกอบการที่มีความต้องการไฟฟ้าในปริมาณมาก และมีเสถียรภาพสูง”
ฐิติมา กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหาร มองว่า ความกังวลจะหมดไปถ้าเข้าใจปัญหาทั้งหมด ฉะนั้นต้องเข้าใจปัญหา เพื่อพร้อมจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อมั่นว่า “สิงห์ เอสเตท” จะควบคุมและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามาซ้ำเติม ผลักดันธุรกิจเติบโตต่อไปได้