ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นั่งแท่นนายกส.อาคารชุดชูไทยเป็นโกลบอล พร็อพเพอร์ตี้
'ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต' นั่งแท่นนายกส.อาคารชุดไทยคนที่13 รับไม้ต่อจาก พีระพงศ์ จรูญเอก ถือเป็นการหวนคืนตำแหน่งนายกสมาคมอาคารชุดไทยสมัยที่2 ชูประเทศไทยเป็น “โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้”
วันนี้ (26 เม.ย.)สมาคมอาคารชุดไทย ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ณ ห้องฟูจิ 1 ชั้น 4 โรงแรมนิกโก้ ซ.สุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) กรุงเทพมหานคร ได้คัดเลือกให้ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมอาคารชุดไทยคนใหม่ ถือเป็นนายกสมาคมอาคารชุดไทย คนที่ 13 ต่อจากนายพีระพงศ์ จรูญเอก พร้อมตั้งแต่งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯชุดใหม่ ประจำปี 2567-2568
สำหรับประเสริฐ แต่ดุลยสาธิตหรือพี่เล็ก จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี บัญชี (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท บริหารธุรกิจ(การตลาด, การเงิน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ในวงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า30ปี โดยเข้ามาเริ่มงานแรกในวงการอสังริมทรัพย์ที่ลลิล ต่อมาย้ายเข้ามาอยู่พฤกษา เรียลเอสเตทปี 2548 ในตำแหน่งกรรมการ-ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจพฤกษาจนสามารถขึ้นมาสู่บริษัทอสังหาฯอันดับ 1 ด้วยการปั้นพอร์ตแบรนด์หรูขึ้นมาเสริมความแข็งแกร่งที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นระดับแมส
จากน้้นในเดือน มิ.ย.2563 ได้เข้ามารับตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติงานของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)ผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ที่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการว่าเป็นของแทร่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่อนันดา ดึงมาช่วยในการบริหารจัดการด้านการเงินและรับมือวิกฤติโดยเฉพาะกรณีแอชตันอโศก ล่าสุดดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอาคารชุดไทยคนที่ 10 มาแล้วถึง 2สมัยติดต่อกัน ก่อนหน้า ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ เรียกได้ว่า มีประสบการณ์มาก่อน ไม่ใช่ มือใหม่หัดขับ เชื่อว่า จะสามารถช่วยผลักดันให้มาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์แก่วงการและคนไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน และกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง
ในมุมมองของประเสริฐ ประเทศไทยเป็น “โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้” ที่มีความพร้อมในการรองรับดีมานด์ต่างชาติที่เข้ามาในประเทศได้เป็นอย่างดี ถือเป็น“ทางรอด”ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในการประคับประคองยอดขาย
ด้วยการดึงลูกค้าต่างชาติที่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง เข้ามาทดแทนกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแรงลงจากล่างขยับสู่กลาง เนื่องจาก “ติดหล่ม” ปัจจัยลบ ไม่ว่าหนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยขาขึ้น "กดดัน" สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดรีเจกต์เรตพุ่งทะลุ 70% ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยระดับต่ำ3ล้านบาทหยุดชะงัก !