REICคาดการณ์อสังหาฯปี 2567โอนติดลบ4.4%ครึ่งแรกชะลอตัวแรงกว่าช่วงโควิด
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ปรับลดคาดการณ์ปี 2567โอนติดลบ4.4% หวังมีปัจจัยบวกฉุดภาพทั้งปีติดลบน้อยลง ระบุภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งแรกของปี67 ชะลอตัวแรงกว่าช่วงโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างไตรมาส2/67 มีจำนวนลดลง19%ต่ำสุดในรอบ26ไตรมาส
วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือREIC กล่าวว่า จากแนวโน้มอัตราขยายตัว GDP อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย 6 ธนาคาร อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราดูดซับ รวมถึงผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ (9 เม.ย.2567) ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ได้ปรับคาดการณ์ภาพของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2567 ลดลงของทั้งอุปสงค์และอุปทานในตลาด โดยจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ 350,545 หน่วย ลดลงร้อยละ -4.4 และมีช่วงการขยายตัวระหว่าง ร้อยละ -14.0 ถึง ร้อยละ 5.1
โดยมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบ 243,088 หน่วย ลดลงร้อยละ -6.0 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -15.4 ถึง ร้อยละ 3.3 และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอาคารชุดประมาณ 107,456 หน่วย ลดลงร้อยละ -0.6 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -10.5 ถึง ร้อยละ 9.4
ด้านมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า1,012,760 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.3 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -12.9 ถึง ร้อยละ 6.4 ประกอบด้วยมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 717,052 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.4 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -13.1 ถึง ร้อยละ 6.3 มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดประมาณ 295,707 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.9 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -12.6 ถึง ร้อยละ 6.8 ขณะที่คาดการณ์ว่า ปี 2567 จะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศจำนวน 651,317 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ -4.0 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -11.7 ถึง ร้อยละ 5.6
ด้านอุปทานคาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจำนวน 89,420 หน่วย ลดลง ร้อยละ -6.4 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -15.8 ถึง ร้อยละ 3.0 ปี 2567 รวมทั้งคาดว่าจะมีจำนวนพื้นที่ การออกใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศ36,102,795 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -8.9 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -18.0 ถึง ร้อยละ 2.5
โดยมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างแนวราบทั่วประเทศประมาณ 32,816,529 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -9.5 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -18.5 ถึง ร้อยละ 1.4 และมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดทั่วประเทศประมาณ 3,286,266 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -3.0 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -12.7 ถึง ร้อยละ 8.7
นอกจากนี้ จำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศ ในไตรมาส 2 ปี 2567 มีจำนวน 7,814,783 ตร.ม. ลดลงร้อยละ -19.0 โดยพื้นที่ก่อสร้างแนวราบ 7,180,340 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -19.3 และอาคารชุด 634,443 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -16.2 นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยลดลงต่ำสุดในรอบ 26 ไตรมาส
ทั้งนี้ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศ 14,472,642 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -13.7 เมื่อเทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.- พ.ค. 66) ที่มีจำนวนพื้นที่ก่อสร้าง 16,776,159 ตร.ม. โดยพื้นที่ก่อสร้างแนวราบ ลดลง ร้อยละ -12.1 พื้นที่ก่อสร้างอาคารชุด ลดลง ร้อยละ -33.1