'แสนสิริ' ตุนเงินสดหมื่นล้าน พร้อมรับโอกาส-ลงทุนใหม่
'แสนสิริ' เดินหน้าตุนกระสุนเงินสด เปิดทางเชนโรงแรมโลก 'ไฮแอท' ซื้อกิจการ 'สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล' มูลค่า 1.2 หมื่นล้าน เตรียมพร้อมรับโอกาสลงทุนใหม่ในอนาคต ด้านยักษ์ใหญ่ 'ไฮแอท' เพิ่มความหลากหลายแบรนด์ในพอร์ต รับเทรนด์นักท่องเที่ยวยุคใหม่นิยมแบรนด์ไลฟ์สไตล์
บิ๊กคอร์ปอสังหาริมทรัพย์ “แสนสิริ” ผู้ถือหุ้นใหญ่ราว 71% ของ สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล (Standard International) เครือโรงแรม เดอะ สแตนดาร์ด (The Standard) และ บังค์เฮาส์ (Bunkhouse) แบรนด์โรงแรมระดับ Top 10 จากการจัดอันดับของ Travel + Leisure’s World Best Awards 2023 ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับไฮแอท (Hyatt) ผู้ประกอบการโรงแรมระดับโลก เพื่อเข้าลงทุนใน สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล โดยคาดว่าจะปิดบิ๊กดีลนี้ได้ภายในปลายปี 2567
“แสนสิริ” เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล ในปี 2560 มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเติบโต ขยายเครือข่ายปักหมุดทำเลยุทธศาสตร์เมืองท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การฟื้นตัวและเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งอยู่ในทิศทางที่ดี
สำหรับดีลซื้อขายกิจการที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ “แสนสิริ” ยังคงเป็นเจ้าของพร็อพเพอร์ตี้ ประกอบไปด้วย เดอะ สแตนดาร์ด หัวหิน, เดอะสแตนดาร์ด เรสซิเดนซ์ หัวหิน, เดอะ เภรี โฮเต็ลหัวหิน, เดอะ เภรี โฮเต็ล เขาใหญ่ และเป็นเจ้าของ The Manner โรงแรมระดับลักชัวรีที่กำลังจะเปิดตัวในย่านโซโหของเมืองนิวยอร์กในเดือน ก.ย. 2567
โดยการเข้าลงทุนซื้อกิจการ "สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล" ของ ไฮแอท ในครั้งนี้ จะส่งผลดีและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ต่อแสนสิริเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ไฮแอท มีโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งทั่วโลก โดยเฉพาะโปรแกรมสมาชิก World of Hyatt ที่ประกอบไปด้วยสิทธิพิเศษและข้อเสนอมากมาย จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับพร็อพเพอร์ตี้ของแสนสิริ
นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวว่า แสนสิริยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจ Hospitality ซึ่งการลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่ผ่านมา สะท้อนความสำเร็จและวิสัยทัศน์ของแสนสิริในการดำเนินธุรกิจ และเข้าลงทุนในธุรกิจที่มีมูลค่าการเติบโตในอนาคต (Future Growth Business) โดยหลังจากนี้แสนสิริยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ต่อเนื่อง
"โอกาสทางธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นกลับ ถือเป็นเวลาที่เหมาะสม มีโมเมนตัมเชิงบวกต่อภาพรวมของธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาแสนสิริได้รับการติดต่อจากเชนโรงแรมขนาดใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง แต่มองว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนัก ต้องพิจารณาจังหวะโอกาส ปัจจัยพื้นฐาน สภาวะตลาด รวมทั้งนโยบายในการบริหารว่าสอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ที่แสนสิริกำหนดไว้ นั่นคือ สร้างการเติบโตให้กับ สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนลได้อย่างแข็งแกร่งและมีความมั่นคงในระยะยาว”
อุทัย อุทัยแสงสุข
"สแตนดาร์ด" ศักยภาพเติบโตสูง
ทั้งนี้ พันธมิตร "ไฮแอท" ได้มองเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของ สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจทางด้าน Hospitality ของแสนสิริ
"ถือเป็นก้าวสำคัญในแผนพัฒนาเชิงกลยุทธ์ของ สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล และมั่นใจว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ของไฮแอท นอกจากจะสะท้อนถึงความสำเร็จในการลงทุน สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล ของแสนสิริแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในหลากหลายด้านให้กับลูกค้าและทีมงานของ สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล อีกด้วย”
นายอุทัย กล่าวต่อว่า สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว ยังครอบคลุมสัญญาบริหารและแฟรนไชส์สำหรับโรงแรมมากถึง 21 แห่ง มีห้องรวมกันราว 2,000 ห้อง มีทั้งโรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว อาทิ เดอะ สแตนดาร์ด ลอนดอน, เดอะ สแตนดาร์ด ไฮไลน์ ในนิวยอร์ก, เดอะ สแตนดาร์ด แบงค็อก มหานคร และโรงแรมบูติคอย่าง โฮเทล เซนต์ เซซิเลีย ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส และ โฮเทล ซาน คริสโตบัล ในเมืองบาฮากาลิฟอร์เนีย ประเทศเม็กซิโก
โดยหลังจากบรรลุข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าว ไฮแอท จะชำระค่าตอบแทนเริ่มแรกจำนวน 150 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มเติมอีกสูงสุดไม่เกิน 185 ล้านดอลลาร์ สำหรับโรงแรมแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารโดยไฮแอท หรือมูลค่ารวมซื้อขายกิจการในครั้งนี้ราว 335 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท
“ไฮแอท” โรงแรมที่พักทั่วโลกกว่า 1,350 แห่ง
รายงานข่าวจากเครือไฮแอท ระบุว่า ไฮแอท โฮเทลส์ คอร์ปอเรชั่น (Hyatt Hotels Corporation) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในชิคาโก สหรัฐ เป็นบริษัทด้านการบริการชั้นนำระดับโลก จากข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ไฮแอทมีโรงแรมและที่พักมากกว่า 1,350 แห่งใน 78 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีป
สำหรับแบรนด์โรงแรมที่พัก ปัจจุบันประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก รวม 29 แบรนด์ ได้แก่
กลุ่มที่ 1 Timeless Collection เช่น พาร์ค ไฮแอท, แกรนด์ ไฮแอท, ไฮแอท รีเจนซี่ และไฮแอท
กลุ่มที่ 2 Boundless Collection เช่น แอนดาซ และธอมป์สัน โฮเทลส์
กลุ่มที่ 3 Independent Collection เช่น ดิ อันบาวด์ คอลเลกชัน บาย ไฮแอท และ เดสติเนชัน บาย ไฮแอท
กลุ่มที่ 4 Inclusive Collection เช่น อิมเพรสชัน บาย ซีเคร็ตส์
เฉพาะประเทศไทย ปัจจุบันเครือไฮแอทมีโรงแรมให้บริการรวม 8 แห่งในเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ, โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ, โรงแรมแอนดาซ พัทยา จอมเทียน บีช, โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท, โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ ภูเก็ต รีสอร์ต, โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ เกาะสมุย, โรงแรมไฮแอท เพลซ กรุงเทพฯ สุขุมวิท และโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุด้วยว่า เมื่อต้นปี 2565 บริษัท วัน แบงค็อก จำกัด ได้ประกาศลงนามเซ็นสัญญาบริหารโรงแรมร่วมกับบริษัทในเครือไฮแอท โฮเทลส์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อเปิดตัวโรงแรมแอนดาซ (Andaz) แห่งแรกในกรุงเทพฯ โดยโรงแรมไลฟ์สไตล์ระดับลักชัวรี ขนาดห้องพัก 244 ห้องแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ วัน แบงค็อก (One Bangkok) มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
กูรูชี้เชน “สแตนดาร์ดฯ” ดึงดูดทัวริสต์ยุคใหม่
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) วิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมว่า ปัจจุบันเชนโรงแรมระดับนานาชาติรายใหญ่ได้มีการขยายพอร์ตโฟลิโอจำนวนแบรนด์โรงแรมที่พัก เพื่อให้นักลงทุนเลือกว่าแบรนด์ใดเหมาะสมที่สุดในการลงทุนทำตลาด
ด้วยแนวโน้มตลาดลงทุนโรงแรมจะเห็นว่ามีโรงแรมอิสระ (Independent Hotel) สนใจว่าจ้างเชนโรงแรมมาช่วยบริหารมากขึ้น แน่นอนว่าบรรดาแบรนด์ต่างๆ ในพอร์ตโฟลิโอที่เลือกมาต้องสามารถสร้างความแตกต่างให้กับโรงแรมนั้นๆ ได้ ขณะเดียวกันเรื่องฐานลูกค้าลอยัลตี้โปรแกรม (Loyalty Program) ของเชนโรงแรมจะเป็นอีกแรงดึงดูดสำคัญในการพิจารณาของนักลงทุน เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งลูกค้าจากช่องทางแพลตฟอร์มของบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) เพียงอย่างเดียวในยุคใหม่ของภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) เติบโต และเน้นมองหาโรงแรมดีมีคุณภาพ
“ธุรกิจโรงแรมกำลังเจอจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเชนโรงแรมต่างๆ เร่งดึงผู้ประกอบการหรือนักลงทุนโรงแรมในท้องถิ่น (Local) ให้หันมาว่าจ้างเชนโรงแรมบริหารมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานและยกระดับมาตรฐานด้านต่างๆ จึงมองว่าหนึ่งในเหตุผลที่เครือไฮแอทยื่นข้อเสนอเข้าลงทุนในสแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล จากแสนสิริ เพราะต้องการเติมความหลากหลายให้กับพอร์ตโฟลิโอของเครือไฮแอท เนื่องจากแบรนด์โรงแรมของสแตนดาร์ดฯ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์แนวไลฟ์สไตล์ มีสีสัน สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี นอกจากมูลค่าเรื่องแบรนด์ที่เครือไฮแอทจะได้รับแล้ว ยังได้ฐานลูกค้าในมือตามมาอีกด้วย”
(Credit รูป: www.thestandardevents.com)