อสังหาภูเก็ตเดือดที่ดินหายากมุ่งทำเลชานเมือง-บ้านมือสองรับโลคัลดีมานด์

อสังหาภูเก็ตเดือดที่ดินหายากมุ่งทำเลชานเมือง-บ้านมือสองรับโลคัลดีมานด์

ฉุดไม่อยู่! อสังหาฯ ภูเก็ตเดือดยาว ที่ดินหายากส่งผลให้ราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าก่อสร้าง คอมมิชันเอเจนต์ขยับ10-20% สวนทางกำลังซื้อคนไทยลดลง ต่อเนื่องมุ่งทำเล'ชานเมือง'รุก'บ้านมือสอง'รองรับดีมานด์ในประเทศ

KEY

POINTS

  • ประชากรเกาะภูเก็ตปี 2566 มีราว 410,839 คน เป็นตัวเลขตามทะเบียนบ้านไม่นับประชากรแฝง! คนที่ไปทำงานในภูเก็ตและต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัย
  • จากการสำรวจยังพบว่า Gen Z มีสัดส่วน 34% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่ Gen Y ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักของตลาดที่อยู่อาศัยมีสัดส่วน 29.9%  มีแนวโน้มขยายตัว 0.6% สวนทางจังหวัดอื่นที่ติดลบ!
     

ข้อมูลศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตครึ่งแรกปี 2567 ซัพพลายที่เข้ามาใหม่ เป็นบ้านจัดสรร 473 หน่วย ขายได้ 756 หน่วย กล่าวคือ ขายได้มากกว่าซัพพลายที่เข้ามาใหม่ สูงขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2566 ขณะที่คอนโดมิเนียม มีซัพลายใหม่เข้ามามากตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2566 จำนวน 5,571 หน่วย และครึ่งแรกปี 2567 ซัพพลายใหม่เข้ามาอีก 4,318 หน่วย ขณะที่ยอดขาย 4,497 หน่วย มากกว่ายอดขายครึ่งแรกปีก่อนถึง 3 เท่า!

สะท้อนว่า คอนโดมิเนียมในภูเก็ตขยายตัวดี จากซัพพลายรวม 4,707 หน่วย ขายได้ 2,202 หน่วย อัตราดูดซับ 7.8% ระดับราคาที่ขายดี 3-5 ล้านบาท 5-7 ล้านบาท 7-10 ล้านบาท และ 10 -20 ล้านบาท  ทำเลขายได้มากสุดอยู่ที่หาดบางเทาและหาดสุรินทร์
 

สำหรับอัตราดูดซับ (Absorption Rate) สะท้อนถึงอุปสงค์ หรือ ปริมาณความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในหาดบางเทา หาดสุรินทร์ ดีสุด ในฝั่งทะเลตะวันตก ส่วนตลาดอาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม จะอยู่ในเมืองกะทู้ มีอัตราการดูดซับ 11%  ขณะที่วิลล่ากระจายไปทั่วทั้งเกาะภูเก็ต มีทั้งริมทะเล กลางเกาะ และโซนภูเขา มากกว่าบ้านจัดสรร โดยจะกระจายไปริมทะเลและบนเขาแต่มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนวิลล่าในโซนที่มีอัตราการดูดซับดี 9.5% อยู่ที่เกาะแก้วรัษฎาฝั่งตะวันออก

อสังหาภูเก็ตเดือดที่ดินหายากมุ่งทำเลชานเมือง-บ้านมือสองรับโลคัลดีมานด์

วิลล่าภูเก็ตบูมหนักเพิ่มดีกรีแข่งเดือด

เมธาพงศ์ อุปัติศฤงค์  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตครึ่งแรกปี 2567 เทียบปี 2566 ทุกตลาด เติบโตอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะตลาดล่างระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เนื่องจากภูเก็ตฟื้นตัวจากโควิด-19 ธุรกิจโรงแรมทยอยเปิดตัว สิ้นปี 2567 คาดตัวเลขนักท่องเที่ยวจะกลับมาเทียบก่อนโควิด ไฟล์ตบินกลับมาบิน 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นรองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาภูเก็ต 

“คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งคนในพื้นที่และแรงงานที่เข้ามาทำงานในภูเก็ต ทั้งได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการของรัฐลดค่าโอนและจดจำนองจะทำให้อสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวทุกตลาด”
 

สำหรับตลาดวิลล่าในภูเก็ตได้รับความนิยมมากขึ้นทำให้ดีเวลลอปเปอร์จากกรุงเทพฯ และผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามาพัฒนาโครงการวิลล่าทำให้ซัพพลายเพิ่มขึ้น มีทั้งการเข้ามาร่วมทุนพัฒนาโครงการระหว่างทุนไทยและต่างชาติ ซึ่งตลาดวิลล่าพัฒนาโครงการได้ค่อนข้างเร็ว ใช้ที่ดินเพียง 2-3 ไร่ก็สามารถขึ้นโครงการได้และมาร์จิ้นค่อนข้างสูง

"เมื่อมีผู้เล่นมากขึ้นทำให้การแข่งขันสูงขึ้นไม่ใช่ตลาดผู้ขายแต่เป็นตลาดผู้ซื้อ (Consumer Market) มีซัพพลายค่อนข้างเยอะ ลูกค้ามีอำนาจต่อรอง เพราะมีทางเลือกมากขึ้น"

กำลังซื้อชะลอสวนทางต้นทุนพุ่งต่อเนื่อง

โดยประเมินไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซันตลาดดีกว่าไตรมาส 3 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารัสเซียเริ่มเข้ามาเกิด Transaction มากขึ้นเป็นแรงส่งไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า 

 อย่างไรก็ตาม สภาพตลาดอาจเปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน “พูลวิลล่า” ที่ขายได้มีขนาดเล็กลง เพราะกำลังซื้อหดตัว จากซื้อหลังละ 30-40 ล้านบาท เหลือ15-20 ล้านบาท 

"การทำตลาดคนไทยในภูเก็ตทำยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะราคาต้นทุนที่ดินแพงขึ้น จากเมื่อก่อนทำทาวน์เฮ้าส์ราคา 2-3 ล้านบาท หาที่ทำโครงการอยู่ในพื้นที่สีเหลืองและอยู่ในพื้นที่เหมาะสมได้ แต่ตอนนี้หาที่ดินในราคาที่สามารถทำทาวน์เฮ้าส์ราคา 2-3 ล้านบาท ยากมากต้องออกไปนอกเมือง"

แม้ตลาดภูเก็ตโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากดีมานด์ภาคการท่องเที่ยวทำให้แนวโน้มปีหน้ายังคงสดใส! และเติบโตกว่าปี 2567 แต่หากจะพัฒนาโครงการใหม่ต้องระวังซัพพลายทั้งคอนโดมิเนียมและวิลล่า เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาจับจองตลาดกันมากแล้ว การลงทุนใหม่ต้องสร้างโครงการให้เร็วและปิดการขายได้เร็วเพื่อลดความเสี่ยง  ขณะที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลและพัฒนาสาธารณโภคพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ลดต้นทุนมุ่งทำเลชานเมือง-ขายมือสอง

พัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล  กรรมการ บริษัท ชาโต้ ภูเก็ต จำกัด กล่าวว่า ภูเก็ตเป็น “เวิลด์คลาส เดสติเนชั่น” มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้เกิดดีมานด์ในการซื้อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าในระดับโลกมากขึ้น 

ดังนั้น ไตรมาส 4 ไปจนถึงปี 2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตยังดีต่อเนื่อง จากตลาดล่างที่เริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานกลับเข้ามาทำงานในภูเก็ตเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

"ราคาที่ดินภูเก็ตสูงทำให้การพัฒนาโครงการใหม่ต้องขยายตัวออกไปชานเมืองมากขึ้นเพราะที่ดินยังไม่แพงมาก ทำให้ลูกค้าตลาดคนไทยระดับล่างสามารถซื้อได้ แม้ทำเลอาจด้อยกว่าเดิม แต่ทำให้มียอดขายไปได้เรื่อยๆ อีกตลาดหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือบ้านมือสอง ซึ่งมีกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่ไปซื้อบ้านเก่ามารีโนเวทขาย มียอดขายค่อนข้างดีและได้ผลตอบแทน (Yield) ค่อนข้างดีแม้จำนวนต่อปีไม่มากนักแต่เป็นตลาดที่เติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า"

หากพิจารณาแนวโน้มภาคท่องเที่ยว สายการบิน และนักท่องเที่ยว ไต่ระดับดีกลับมาก่อนโควิด ส่งผลตลาดอสังหาริมทรัพย์ย่อมดีตามไปด้วย เพราะรายได้คนภูเก็ตเพิ่มขึ้น ยกเว้นเกิดเหตุการณ์ไม่สามารถคาดเดาหรือเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น สงครามทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก

"การลงทุนต้องระมัดระวังมากขึ้น ไม่ใช่ทุ่มจนหมดตัวจนไม่มีทางถอย เพราะปัจจุบันซัพพลายในภูเก็ตเพิ่มขึ้นมาก ต้องใช้เวลาดูดซับไม่เหมือนปีที่ผ่านมาที่ทุกคนกังวลสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น กังวลว่าจะโดนยึดเงิน โอนเงินออกนอกประเทศไม่ได้ จึงซื้อไว้ก่อน แต่ปีนี้ไม่ใช่ การจะซื้อเพื่อลงทุนมีการพิจารณา กลายเป็นตลาดผู้ซื้อ ที่เลือกได้มากขึ้น"

ต้นทุนค่าคอมมิชันเอเจนต์พุ่ง 10-20%

สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตผู้ประกอบการต้องพึ่งเอเจนต์ในการขาย ปัจจุบันค่าคอมมิชชั่นสูง 10-20% ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงมาก ถูกกดดันจากราคาที่ดินที่ขยับสูงต่อเนื่องบวกกับต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนต้องวางแผนให้ดี ระมัดระวังในการลงทุน ไม่ลงทุนตามกระแส หรือแนวโน้มการร่วมทุนต้องพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ

"กระแสลงทุนภูเก็ตยังคงร้อนแรง มืออาชีพเข้ามาพัฒนาโครงการจำนวนมาก โลคัลดีเวลลอปเปอร์ ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อความอยู่รอด"