ก้าวกระโดด ผลิตภาพอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ก้าวกระโดด ผลิตภาพอุตสาหกรรมก่อสร้าง

อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศคิดเป็นราว 8% อย่างไรก็ตามน่าสนใจว่า ผลิตภาพ (Productivity) ของอุตสาหกรรมนี้ มีการเจริญเติบโตรั้งท้าย เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

Productivity งานก่อสร้าง

Mckinsey Global Institute เผยแพร่บทความว่า ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ของอุตสาหกรรมก่อสร้างในโลก เจริญเติบโตเฉลี่ยเพียง 1% ในระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 1995 ต่ำกว่าอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ที่มีการเติบโตเฉลี่ย 3.6% มาก

Labor Productivity คือการนำแรงงานคนที่ใช้ เทียบกับผลลัพธ์ที่ได้หรือ Output ไปควบคู่กัน จำนวนโครงการก่อสร้างที่เกิดขึ้นมากมาย มิได้หมายความว่าผลิตภาพสูงขึ้นไปด้วย 

งานก่อสร้างมี Supply Chain ใหญ่โตโยงใยถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง มีผู้คนจำนวนมากเกี่ยวข้อง ตั้งแต่เจ้าของโครงการ สถาปนิกผู้ออกแบบ วิศวกร ช่างคุมงาน แรงงาน จนถึงการดูแลบำรุงรักษาหลังเสร็จสิ้นโครงการ

งานก่อสร้างจำนวนมาก ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากหลายสิบปีก่อน การจัดการไซต์ก่อสร้างด้วยประสิทธิภาพต่ำ ยังพบได้อยู่ทั่วไป

เมื่ออุปกรณ์ก่อสร้างขาด เครื่องมือเสีย วัสดุขาด ทีมงานต้องวิ่งไปร้านขายของ งานหยุดชะงักชั่วคราว คนงานรอ หรือในทางตรงกันข้าม แรงงานขาด เร่งโหมงานทั้งวันทั้งคืนส่งผลกับคุณภาพงาน

ระหว่างเดินหน้าก่อสร้าง พบว่าแบบมีปัญหา ไม่สามารถทำได้ ไปต่อไม่ได้เกิดงานเสีย คอนกรีตหมดเวลา เสียเวลาและแรงงานในการสกัดออก เสียวัสดุคอนกรีตเพื่อเทใหม่

ที่หน้างาน กองหิน ดินทราย เศษปูน พอกพูนเกะกะพื้นที่ เสียเวลาคนและทรัพยากรตักขนออกไป วัสดุจำนวนมากเคลื่อนย้ายมาแล้วแต่กลับกลายไปเป็นขยะ

เมื่อเจ้าของโครงการหรือผู้ใช้งานเปลี่ยนความต้องการ แรงงานชุดใหม่เข้ามาพร้อมอุปกรณ์ทุบทำลาย เพื่อกลับไปนับหนึ่งใหม่ พร้อมกับเศษซากจำนวนมาก เกิดต้นทุนการกำจัด และ เคลื่อนย้าย 

ปัญหา Classic 

ผมเคยได้ยินคุณ ไผท ผดุงถิ่น ผู้พัฒนา Platform เชื่อมต่ออุปสงค์อุปทานวัสดุ กล่าวถึงงานก่อสร้างว่า ‘ห่วย แพง ช้า’ คือ Quality, Cost และ Delivery ซึ่งเป็นหลักการจัดการพื้นฐานของทุกอุตสาหกรรม 

ปัญหาคุณภาพ คือ งานไม่ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรก (Right at the First Time) เสียเวลาเพิ่ม ไปกับการทำซ้ำ แก้ไข ปรับแต่ง เกิดต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น กระทบต่อความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง

มีตัวเลขประมาณการณ์ว่า ต้นทุนแฝงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาคุณภาพ สูงถึง 12% ของต้นทุนโครงการ ในมุมกลับ นี่คือโอกาสลดต้นทุนก้อนใหญ่ให้โครงการ

แรงงานใหม่ลดลงจากสังคมผู้สูงอายุ ความเสี่ยงจากการพึ่งพาแรงงานประเทศเพื่อนบ้านสูงมาก การสั่งสมความเชี่ยวชาญของแรงงานเกิดขึ้นยาก จากการโยกย้ายตลอด 

เมื่อบริหารไม่ดี ปัญหาหน้างานกระทบถึงเวลาของโครงการ ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งมอบงานล่าช้า เกิดค่าปรับ เจ้าของเสียโอกาสทางธุรกิจ ความเชื่อถือในผู้รับเหมาก่อสร้างไม่เกิด

ความท้าทาย และ การพัฒนา

เราอาจเรียนรู้ วิวัฒนาการยกระดับ Productivity ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และนำมาประยุกต์กับงานก่อสร้างได้

หลังจากบุกเบิกระบบ Mass Production โรงงาน Ford ลดเวลาการผลิต และแรงงานที่ใช้ได้อย่างมาก ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งคือ การพัฒนามาตรฐานชิ้นส่วน เพื่อให้สามารถใช้สลับแทนกันได้ (Interchangeability) 

แนวคิดนี้หากนำมาใช้ จะปรับปรุงผลิตภาพการก่อสร้างแบบก้าวกระโดดได้ ด้วยการผลิตชิ้นงานเป็น Module มาตรฐานจากโรงงาน จากนั้นนำมาประกอบที่ไซต์งาน ออกแบบให้ระบบไฟฟ้า ท่อต่างๆ เชื่อมต่อเข้ากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โรงงานและหน้างานเดินคู่ขนานกันไปได้ ทำให้เวลาโครงการสั้นลง วิธีการทำงานที่ไซต์ง่ายกว่าเดิมใช้เวลาน้อยลง เมื่อเวลาผ่านไปสามารถซ่อมแซม ถอดชิ้นส่วนเก่าออก นำชิ้นใหม่ประกอบทดแทนเข้าไป เช่นเดียวกับรถยนต์ 

การปรับปรุงคุณภาพ ทำได้ด้วยการจัดการ ‘ทรัพยากร’ และ ‘กระบวนการทำงาน’ ที่มีมาตรฐาน ควบคู่กับ การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับระบบ TQM ที่มีการพัฒนาต่อมาในอุตสาหกรรมยานยนต์ 

เจ้าของโครงการและวิศวกร/สถาปนิก ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อให้พิมพ์เขียวตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่หน้างาน ทั้งๆที่เริ่มก่อสร้างไปแล้ว เป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น 

การออกแบบ คำนึงถึงวิธีการก่อสร้างง่ายและสะดวก ใช้พลังงานคุ้มค่า เชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมสีเขียวรักษ์โลก เพื่อทรัพยากรคุ้มค่าสูงสุด เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เหล็ก Recycle, วัสดุ Carbon ต่ำ 

นำเทคโนโลยี 3D Model หรือ BIM มาใช้เพื่อการจัดการข้อมูลตลอดวงจรของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ, การบริหารวัสดุ, งานก่อสร้าง, การบำรุงรักษา ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เข้าถึงข้อมูลและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การวางแผนวัสดุ การประเมินต้นทุน การควบคุมงานและต้นทุนทำได้แม่นยำขึ้น แก้ปัญหาต้นทุนที่มักจะงอกขึ้นมาในระหว่างการดำเนินงาน

ระหว่างการก่อสร้าง มีการจัดการเพื่อลดความสูญเสียตามแนวคิดของ Lean ทั้งของเสีย และ ขั้นตอนงานที่ไม่สร้างคุณค่า ทำให้เกิดงานที่ไหลลื่นไม่สะดุดหยุดติดขัด

ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการใช้แรงงาน เช่น อุปกรณ์และเครื่องจักรอัตโนมัติ, หุ่นยนต์ก่อสร้าง, Drone, เครื่องพิมพ์ 3 มิติ, 3D Scanner 

นำ Smart Camera มาช่วยการตรวจสอบหน้างานบนโลกไซเบอร์ บันทึกความก้าวหน้าด้วยภาพในแต่ละขั้นตอน ตรวจสอบประเมินกิจรรมย้อนหลังได้

หลังเปิดใช้งาน อาคารชาญฉลาดด้วย Sensor ต่อเชื่อมระบบ Internet วัดค่าควบคุมต่างๆ เช่น อุณหภูมิ แสงสว่าง การระบายอากาศ ได้แบบ Real Time เกิดการจัดการพลังงานอย่างคุ้มค่า นำ AI มาใช้ในระบบบำรุงรักษา ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นแหล่งรวบรวมคนระดับหัวกะทิของประเทศอยู่จำนวนมาก เป็นหนึ่งในภาควิชาสำคัญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ทุกสถาบัน ที่ควรเป็นปัจจัยบวกส่งผลต่อโอกาส ในการพัฒนาปรับปรุงผลิตภาพที่มีความยั่งยืนต่อไปครับ