‘Hybrid Working’พลิกโฉมสำนักงานยุคใหม่ใช้พื้นที่ร่วมกันเพิ่มขึ้น 30%

เทรนด์การทำงานแบบ Hybrid Working ที่พนักงานสามารถทำงานได้ทั้งจากออฟฟิศ และบ้าน หรือจากที่ไหนก็ได้แทนที่การทำงานจะอยู่ในออฟฟิศเพียอย่างเดียวเหมือนในอดีตส่งผลต่อความต้องการพื้นที่ร่วมกันในสำนักงานเพิ่มขึ้น 30% นับตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา
หลังโควิด-19 บรรดาบริษัทต่าง"ปรับปรุงพอร์ต"อสังหาริมทรัพย์ของตนเองและ"ลดต้นทุน"ในการเช่าระยะยาว สนับสนุนารทำงานแบบ Hybrid Working ที่ยืดหยุ่นจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะตลาดและความต้องการด้านการดำเนินงานที่เปลี่ยนไป! การผสมผสานการทำงานนอกและในสำนักงานจะส่งผลให้องค์กรสามารถปรับขนาดพื้นที่ทำงานให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงตามความจำเป็นได้
ทางบริษัทหรือองค์กรต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ออกแบบสำนักงานที่รองรับการทำงานแบบยืดหยุ่น และลงทุนเครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกันแบบไฮบริด รวมถึงการสร้างพื้นที่ทำงานที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม และการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ เพื่อสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมการทำงานที่หลากหลาย
จากการสำรวจล่าสุดของ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เกี่ยวกับมาตรฐานสำนักงานและความคิดเห็นของลูกค้าทั่วโลก พบว่า องค์กรส่วนใหญ่กำหนดให้พนักงานใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งทำงานในสำนักงาน ขณะที่มีองค์กรน้อยกว่า 10% ที่กำหนดให้พนักงานเข้าสำนักงานเต็มเวลา ที่น่าสนใจคือ 63% ขององค์กรที่เป็นกลุ่มสำรวจมีจุดประสงค์หลักในการออกแบบสำนักงานเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกัน (Activity-based Working) และ 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังเพิ่มการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) และการลงทุนด้านเทคโนโลยีไว้ในแผนกลยุทธ์การทำงานแบบยืดหยุ่นขององค์กร
นางสาวโชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานแบบไฮบริดที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการพื้นที่สำนักงานมาตั้งแต่ปี 2564 ที่มีการนำรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดมาใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้การใช้พื้นที่ร่วมกันเพิ่มขึ้น 30% สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางที่บริษัทใช้พื้นที่ของตนเอง ในปัจจุบันความต้องการพื้นที่สำนักงานไม่ได้ขับเคลื่อนจากเพียงแค่จำนวนพนักงานเท่านั้น แต่ขับเคลื่อนจากการผสมผสานความต้องการทางธุรกิจ นโยบายของสถานที่ทำงาน และพฤติกรรมของพนักงานด้วย
จากการสำรวจของซีบีอาร์อีด้านการจัดการสถานที่ทำงานและการใช้พื้นที่ พบว่า มีองค์กรจำนวนมากขึ้นที่มีอัตราการใช้พื้นที่สำนักงานสูงกว่า 100% ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนพนักงานมากกว่าจำนวนที่นั่งทำงานในสำนักงาน สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานแบบไฮบริด อย่างไรก็ตามสำหรับอัตราการใช้พื้นที่จริงทั่วโลกยังคงต่ำกว่า 40% ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า แม้จะมีการวางแผน แต่การใช้พื้นที่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยังน้อยกว่า 40%
“อัตราการใช้พื้นที่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลอย่างมาก ระหว่างอุปทานและความต้องการพื้นที่ พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานถือเป็นข้อกังวลอันดับต้น ๆ สำหรับผู้นำที่ดูแลด้านอสังหาริมทรัพย์ขององค์กร ส่งผลให้หลายองค์กรเริ่มนำโซลูชันบริหารการใช้พื้นที่เข้ามาช่วยหรือใช้โซลูชันเข้ามาช่วยในระดับที่มากขึ้น เพื่อเกิดประสิทธิภาพในรูปแบบสถานที่ทำงานแบบไฮบริดสูงสุด”
ทั้งนี้จากการสำรวจล่าสุดของซีบีอาร์อีเกี่ยวกับมาตรฐานสำนักงานและความคิดเห็นของลูกค้าทั่วโลกซึ่งครอบคลุมอาคารเกือบ 1,000 แห่งและพื้นที่สำนักงานเกือบ 6 ล้านตารางเมตรทั่วเอเชียแปซิฟิก ช่วยชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญที่องค์กรสามารถใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ด้านสถานที่ทำงานของตนเอง โดยเฉพาะในรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดในระดับภูมิภาค สามตัวชี้วัดหลักของสำนักงาน ได้แก่ อัตราการใช้พื้นที่ อัตราการครอบครองพื้นที่ และพื้นที่เฉลี่ยต่อคน บ่งชี้ว่า เอเชียแปซิฟิกมีพื้นที่สำนักงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในช่วง3ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 อัตราการครอบครองพื้นที่สูงถึง 125% อัตราการใช้พื้นที่อยู่ที่ 40% และตัวชี้วัดความหนาแน่นอยู่ที่ 12 ตารางเมตรต่อที่นั่งและ 9 ตารางเมตรต่อคน
โดยผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกประมาณ 90% ให้ข้อมูลว่า ขนาดพื้นที่ขององค์กรตนเองเปลี่ยนแปลงเพียง 10% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงไม่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกคาดว่าขนาดพื้นที่ในพอร์ตโฟลิโอของตนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในบรรดาภูมิภาคทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในเอเชียแปซิฟิกยังมีความสอดคล้องระหว่างความคาดหวังของผู้นำและพฤติกรรมของพนักงานสูงที่สุด โดยอยู่ที่ 50% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 19% ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่บริษัทในเอเชียแปซิฟิกมีการติดตามการเข้าทำงานของพนักงานมากกว่า รวมถึงมีความเคร่งครัดกว่าเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามนโยบาย
โดยจากตัวชี้วัดเหล่านี้ บริษัทจะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในเรื่องการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งแตกต่างกันตามแต่ละบริษัท และนำไปสู่การตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้นเมื่อวางแผนด้านอสังหาริมทรัพย์ขององค์กร
โดยผู้เช่าพื้นที่สำนักงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นบริษัทข้ามชาติที่ยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่องให้เข้ากับการทำงานแบบไฮบริดรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นผู้พัฒนาอาคารสำนักงานจะต้องปรับตัวเช่นกัน และจัดหาพื้นที่ที่รองรับการทำงานแบบไฮบริดและการทำงานแบบยืดหยุ่น การเปลี่ยนแปลงในตลาดเช่นนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับแนวทางในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กรต่าง ๆ และพนักงาน