8 ปรากฏการณ์‘แรงส่ง’หรือ‘ทางตัน’อสังหาฯปี2568

8 ปรากฏการณ์‘แรงส่ง’หรือ‘ทางตัน’อสังหาฯปี2568

ประมวล8ปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลงแห่งวงการ “อสังหาริมทรัพย์” ปีที่ผ่านมา ส่งต่อความท้าทายในปี 2568 ที่น่าจะยังเป็นปีแห่งการประคับประคองและฟื้นฟู ! ผู้ประกอบการจะเตรียมกลยุทธ์รับมืออย่างไรจากประเด็นร้อนเหล่านี้

1.ตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ ซบเซา

หนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญในปี 2567 คือการ “ลดลง” ของจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ในเมืองเศรษฐกิจของประเทศไทยมหานครกรุงเทพ จากภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ลดลงกว่า 43.72%  เทียบปีก่อนหน้า  โดยมีคอนโดมิเนียมเปิดตัวเพียง 8,674 ยูนิต มูลค่า 49,368 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 เปิดตัวถึง 15,413 ยูนิต มูลค่า 48,623 ล้านบาท ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบ คืออัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงถึง 70% ทำให้ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ลดลงอย่างมาก

2.ไตรมาส 3 ปี 2567 ยอดขายอสังหาฯ ติดลบยกแผง

เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปี 2567 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยตกอยู่ในสภาวะถดถอยอย่างรุนแรง! ยอดขายทุกประเภทติดลบทั้งในแง่จำนวนและมูลค่า เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าและปีที่แล้ว คอนโดมิเนียมลดลงถึง 60% ทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยว ลดลงกว่า 26% ทำให้ภาพรวมไตรมาส 3 ติดลบมากกว่า 30% เทียบไตรมาสก่อนหน้า และติดลบ 45% เทียบปีที่แล้ว
 

3.อสังหาฯ ภูเก็ตโตสวนตลาดซึม

ในขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ หดตัว “ตลาดภูเก็ต” โตพุ่งแบบก้าวกระโดดทีเดียว  โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและวิลล่ามีการเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมาก ข้อมูลคอลลิเออร์สฯ ชี้ให้เห็นว่าในปี 2567 ภูเก็ตมีคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่กว่า 12,000 ยูนิต มูลค่าลงทุนรวมกว่า 63,000 ล้านบาท วิลล่า เปิดตัวเพิ่ม 100% คิดเป็นมูลค่า 36,300 ล้านบาท จากเดิมเปิดตัวเพียง 30-40 โครงการต่อปี นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่จำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ของวิลล่าแซงคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะทำเลบางเทา-เชิงทะเล ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวไทยและต่างชาติเป็นอย่างมาก

8 ปรากฏการณ์‘แรงส่ง’หรือ‘ทางตัน’อสังหาฯปี2568

4.แจ้งเกิดแลนด์มาร์กใหม่ "วัน แบงค็อก-ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค”

การเปิดตัว 2 อภิมหาโปรเจกต์ใจกลางกรุงเทพฯ “วัน แบงค็อก” และ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” สร้างกระแสฮือฮาในวงการ โดย “วัน แบงค็อก” ลงทุนสูงถึง 120,000 ล้านบาท พัฒนาที่ดิน 108 ไร่ บนที่ดินสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งรวมถึงอาคารสำนักงาน โรงแรมหรู 5 แห่ง และพื้นที่ค้าปลีก ส่วน “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่าลงทุนกว่า 46,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโรงแรม อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียมหรู และศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทำให้ย่านพระราม 4 กลายเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ที่ร้อนแรงสุดในเวลานี้ โดยราคาที่ดินย่านนี้พุ่งสูงถึง 3 ล้านบาทต่อตารางวา

8 ปรากฏการณ์‘แรงส่ง’หรือ‘ทางตัน’อสังหาฯปี2568
 

5.ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ คัมแบ็ก! ซีอีโอพฤกษา

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปี 2567 ได้มีการแต่งตั้ง ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ รั้งเก้าอี้รักษาการซีอีโอ “พฤกษา”  แทน อุเทน โลหชิตพิทักษ์  มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.  หลังดึง “อุเทน” กรรมการ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เข้ามานั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มร่วมกับ “ทองมา” ก่อนที่จะได้รับการโปรโมตเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และประธานกรรมการบริหาร เมื่อต้นปี 2565 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงการปรับตัวของ พฤกษา ในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ ทำให้ “เจ้าของ” และผู้บุกเบิกต้องลงมาดูแลเอง

8 ปรากฏการณ์‘แรงส่ง’หรือ‘ทางตัน’อสังหาฯปี2568

6.บ้านหรูบูมชิงดีมานด์ลูกค้ากำลังซื้อสูง

ตลาดบ้านหรูในประเทศไทยกลายเป็นทางเลือกและทางรอดสำหรับดีเวลลอปเปอร์ ท่ามกลางกำลังซื้อระดับกลาง-ล่างเปราะบางอย่างหนัก คอลลิเออร์สฯ ระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดบ้านระดับ Ultimate Class เติบโตอย่างเด่นชัด โดยมีอุปทานเปิดขายใหม่กว่า 394 ยูนิต มูลค่าการซื้อขายใหม่สูงกว่า 450,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาโดยดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ อาทิ เอสซี แอสเสท, แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ แสนสิริ ลุยลงทุนตลาดบ้านหรูราคาสูงระดับ 100 ล้านบาท บางโครงการทะยานถึง 1,300 ล้านบาทต่อยูนิต

8 ปรากฏการณ์‘แรงส่ง’หรือ‘ทางตัน’อสังหาฯปี2568

การขยายตัวของตลาดบ้านหรูมุ่งเจาะกำลังซื้อผู้บริโภคระดับบนที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่ง “ไม่ใช่” แค่กลุ่มคนไทยที่ร่ำรวย แต่ยังมีนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงที่มีความมั่งคั่ง กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทำเลฮอต ได้แก่ สุขุมวิท อารีย์ บางนา พระราม 9 และพัฒนาการ

7.Branded Residences แม่เหล็กดึงต่างชาติ

อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจคือการเติบโตของ “Branded Residences” ในประเทศไทย โดยการนำแบรนด์ระดับโลก หรือ Branded Residences มาผสมผสานตอบโจทย์กลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ อาทิ โครงการ “ปอร์เช่ ดีไซน์ ทาวเวอร์ แบงคอก” ของอนันดาฯ ที่มีราคาขายสูงถึง 1 ล้านบาทต่อตารางเมตร หรือเริ่มต้น 525 ล้านบาท ไปจนถึง 1,400 ล้านบาทต่อยูนิต  สะท้อนการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดระดับไฮเอนด์ พร้อมแข่งขันกับแบรนด์ระดับโลก ที่ไม่เพียงเน้นการพัฒนาโครงการหรูหราเท่านั้น แต่มุ่งสร้างความแตกต่างด้วยเอกลักษณ์ของแบรนด์เนมที่แข็งแกร่งดึงดูดลูกค้าไฮเอนด์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

8.กระแส Generation Rent มาแรง

ตลาดของ “คนรุ่นใหม่” กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เลือก “เช่า” มากกว่า “ซื้อ” จากภาวะค่าครองชีพสูง เงินออมน้อย! ทำให้การซื้อหรือครอบครองที่อยู่อาศัยกลายเป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ ด้วยราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ นอกจากนี้ภาระหนี้สิน จากการศึกษา การใช้บัตรเครดิต ทำให้ไม่อยากผูกมัดกับ “ภาระการผ่อนระยะยาว” เป็นที่มาของกระแส “Generation Rent”  ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลือกเช่าบ้านแทนการซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงภาระทางการเงินและเพิ่มความยืดหยุ่นในชีวิต

ปัจจัยลบและโอกาสใหม่เหล่านี้ยังจะเป็นตัวแปรหลักของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 รอพิสูจน์ฝีมือบรรดาดีเวลลอปเปอร์จะก้าวข้ามสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้แค่ไหน ต้องติดตาม