อสังหาฯ ไทยลุ้น‘จีน’หวนลงทุน ปลุกตลาดปี 68 รีบาวด์

อสังหาฯ ไทยลุ้น‘จีน’หวนลงทุน   ปลุกตลาดปี 68 รีบาวด์

อสังหาฯ ไทยลุ้น‘จีน’หวนลงทุน ปลุกตลาดปี 68 รีบาวด์ หลังข้อมูลล่าสุดไตรมาส 3 /2567 พบว่า คนจีนยังคงครองอันดับหนึ่งในการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในประเทศไทย โดยมียอดโอนถึง 4,386 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 2หมื่นล้านขณะที่เมียนมา ไต้หวัน และรัสเซียเป็นตลาดมาแรง แต่มีสัดส่วนที่น้อย

สุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของคุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้จะดีขึ้นจากช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังคงเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของโครงการก่อสร้าง ทำให้คนจีนต้องเผชิญกับปัญหาความไม่พร้อมของที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถขอเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ตามปกติ

ถึงแม้ว่าอสังหาริมทรัพย์ในจีนจะเผชิญปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มคนจีนที่เคยลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการเช่าหรือขายต่อ ยังคงมองหา ”โอกาส” และช่องทางการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่เติบโตเร็วเหมือนอดีต หลายคนยังคงเลือกลงทุนและทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐี หรือ ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ที่มีแนวโน้มจะออกจากจีนเพื่อหาช่องทางลงทุนใหม่ๆ หรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ
 

“คนจีนในเมืองใหญ่ กว่า 40% นิยมลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนจากการเช่าหรือขายต่อได้สูงมาก แต่ปัจจุบันเมื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มีปัญหาคนจีนกลุ่มนี้จึงมีปัญหาไปด้วย ตลาดที่มีปัญหา มีผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในประเทศจีนลดลงต่อเนื่องโดยลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีปัญหาในการลงทุน หรือไม่ใช่ทุกคนที่มีปัญหาแล้วจะหยุดมองหาโอกาสในการลงทุน”


ผลสำรวจของ Henley & Partners คาดการณ์ว่าในปี 2567  มีคนกลุ่มนี้ประมาณ 15,200 คนออกจากจีน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายหลัก ได้แก่ แคนาดา สหรัฐ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป 

สำหรับในประเทศไทย ระบบการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติที่มีหลักสูตรสากล ดึงดูดคนจีนที่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในหลักสูตรตะวันตก ส่งผลให้ผู้ปกครองเลือกส่งลูกมาเรียนในไทย ซึ่งยังคงมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย และการเดินทางจากจีนมายังไทยก็สะดวก

อย่างไรก็ตาม การมาของคนจีนในประเทศไทยไม่ได้หยุดแค่การศึกษาของบุตรหลานเท่านั้น แต่ยังเป็น ”โอกาส” ในการขยายธุรกิจ หรือการลงทุนเพิ่มเติมในไทยจากกลุ่มคน HNWI (High Net-Worth Individuals) จำนวนไม่น้อยตัดสินใจลงทุนกิจการในไทยหรือขอใบอนุญาตทำงานในประเทศ

สะท้อนได้จากการสำรวจของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าการลงทุนจากจีนในไทยใน 9 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าถึง 146,356 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน นอกจากนี้ จำนวนบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนจีนในไทยก็เพิ่มขึ้นถึง 9.82%

สุรเชษฐ ระบุว่า แม้ว่าปัจจัยเศรษฐกิจจีนอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐ แต่ผลกระทบดังกล่าวไม่น่าจะมากนัก เนื่องจากธุรกิจจีนได้มีการปรับตัวล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น แนวโน้มการลงทุนของคนจีนในประเทศไทยในปี 2568 จึงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านแนวราบ โดยเฉพาะทำเลที่ใกล้โรงเรียนนานาชาติ เช่น กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ พระราม 9 พัฒนาการ และบางนา-ตราด เป็นทำเลที่ได้รับความนิยมสูงจากกลุ่มลูกค้าคนจีน

“การเข้ามาของนักลงทุนจีนในไทยมีหลากหลายด้าน ทั้งการลงทุนในธุรกิจ การขยายกิจการ รวมไปถึงการศึกษา จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมีการเติบโตในปี 2568 โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียมและบ้านระดับกลาง ถึงลักชัวรีได้รับความสนใจจากคนจีนที่มองหาช่องทางการลงทุนและใช้ชีวิตในประเทศไทย”