ปลดล็อกมาตรการ LTV ช่วยระยะสั้น SCB ชี้ปี 68 เปิดโครงการ - โอนหดตัว

มุมมอง SCB EIC ต่อมาตรการ LTV หลังแบงก์ชาติผ่อนปรน 1 ปี ระบุช่วยระยะสั้นอานิสงส์ราคาต่ำกว่า 10 ล้าน ภาพรวมอสังหาฯ ปี 68 เปิดโครงการใหม่หด 9% - ยอดโอนหดตัว 3%
สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้รับการปรับเปลี่ยน เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศมาตรการลดเกณฑ์ Loan-to-Value (LTV) ชั่วคราว เพื่อกระตุ้นตลาดที่กำลังซบเซา ด้วยความหวังที่จะกระตุ้นยอดขายก่อนช่วงเวลาที่จะมีการฟื้นตัว ตลอดจนสร้างโอกาสใหม่แก่ผู้ซื้อ และนักลงทุน
SCB EIC ได้แสดงความเห็นว่าผลกระทบของมาตรการนี้ว่า อาจไม่ได้ผลตามที่คาดหวังนัก! การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เป็นการเปิดทางให้ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้เงินได้ถึง 100% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท นับเป็นการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมในการลดความตึงตัวทางการเงิน แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ มาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้มากน้อยเพียงใด?
ยังมีแนวโน้มว่าการช่วยเหลือครั้งนี้จะเป็นเพียงการประคองตลาดใน "ระยะสั้น" เท่านั้น การช่วยดูดซับสต๊อกอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทอาจจะมีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยยังคงมีอุปสรรคในการ "เข้าถึง" สินเชื่อของกลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อต่ำ
โอกาส และความท้าทาย
กลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการนี้คือ ผู้ประกอบการที่มีอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จพร้อมขาย โดยเฉพาะบ้านแนวราบ และคอนโดมิเนียมซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่น่าสนใจ เช่น ใกล้แหล่งงานหรือสถานศึกษา แต่ความท้าทายยังคงอยู่ที่กลุ่มผู้มีกำลังซื้อต่ำ ที่เกิดการสนใจในครั้งนี้ อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าถึงสินเชื่อที่ยังไม่ผลักดันให้เกิดการขายได้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน สินค้าที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปอาจ "ไม่ได้" รับอานิสงส์มากนักจากการเปลี่ยนแปลงนี้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าในเซกเมนต์นี้มักจะกังวลเรื่องการวางเงินดาวน์อยู่แล้ว ทำให้ไม่เห็นผลสัมฤทธิ์จากมาตรการผ่อนคลาย LTV ได้มากนัก
อนาคตของอสังหาฯ ปี 2568
แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 คาดว่าจะหดตัว 3% !เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่การเปิดโครงการใหม่ก็ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนหน่วย "เหลือขาย" ในตลาดยังสูงเกินไป ส่งผลให้นักพัฒนาต้องมีความระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสต๊อกล้นตลาด
อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยเหลือขายราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทยังคงมีสัดส่วนสูงถึง 91% แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังต้องพัฒนา และมีกลยุทธ์ในการเร่งระบายสต๊อกอย่างต่อเนื่องโอกาสการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังมีทางเลือกในการสนับสนุนเพิ่มเติมหากภาครัฐพิจารณามาตรการกระตุ้นเพิ่ม เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง รวมถึงการส่งเสริมการซื้อบ้านมือสอง สินเชื่อเพื่อผู้มีกำลังซื้อปานกลาง-ล่าง เป็นต้น ถือเป็นบททดสอบที่สำคัญของตลาดอสังหาฯ ไทยปีนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์