แผ่นดินไหวสะเทือนคอนโดกทม.มูลค่ากว่า 458,390 ล้านคนชะลอซื้อ

แผ่นดินไหวสะเทือนคอนโดกทม.มูลค่ากว่า 458,390 ล้านคนชะลอซื้อ

แผ่นดินไหวสะเทือนตลาดคอนโดกทม.มูลค่ากว่า 458,390 ล้านระส่ำ!หวั่นลูกค้าชะลอซื้อ แนะรัฐบาลเร่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์

ภัทรชัย ทวีวงศ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมูลค่าสะสมเกินกว่า 458,390 ล้านบาท กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างหนัก หลังจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูดในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี สั่นสะเทือนทั้งใจของประชาชนและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

จากเหตุการณ์นี้ สิ่งที่ชัดเจนคือความวิตกกังวลในเรื่องความปลอดภัยของอาคารสูง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตลาดที่มีกระแสการลงทุนค่อนข้างเข้มข้น ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาเราจะได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังจากการประกาศผ่อนปรนมาตรการ LTV จากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อาการของแผ่นดินไหวที่ครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมที่ไม่ใช่แค่ในด้านสภาพเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนถึงความเปราะบางของโครงสร้างอาคารสูงที่อาจไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแค่ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ สะดุด แต่ยังทำให้ผู้บริโภคเริ่มตั้งคำถามถึงความมั่นคงของอาคารสูงที่มีการออกแบบและก่อสร้างในปัจจุบัน พวกเขาเริ่มระมัดระวังมากขึ้นเมื่อเลือกซื้อคอนโดมิเนียม และบางคนอาจจะเลือกชะลอการตัดสินใจ เพื่อรอดูสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในด้านการลงทุน การเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกือบ 460,000 ล้านบาท อาจชะลอตัวลงไปอีก โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมที่ยังมีสินค้าคงค้างจำนวนมาก การเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่นนี้ ย่อมทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่กำลังจะลงทุนถูกกระทบอย่างรุนแรง และอาจทำให้การขายลดลงในระยะสั้น
 

ในฐานะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างอาคารสูงที่สามารถทนทานต่อแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารในพื้นที่เสี่ยงให้มีมาตรฐานสูง เพื่อให้ผู้บริโภคและนักลงทุนมั่นใจในความปลอดภัย และคุณภาพของอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว

แนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ คือการเสริมสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของอาคาร โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างและระบบเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รวมถึงการสนับสนุนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการปรับปรุงหรือเสริมความปลอดภัยในโครงการ ผ่านมาตรการทางการเงิน เช่น การให้สินเชื่อพิเศษหรือเงินสนับสนุนในการปรับปรุงโครงสร้างของอาคาร เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคต

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากแผ่นดินไหว ผ่านการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนและการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคและนักลงทุนรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต

นับว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบโครงสร้างอาคารสูงในประเทศไทย ดังนั้น การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์จึงไม่เพียงแต่เป็นภารกิจของภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นภารกิจที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาลในการวางมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ในอนาคต