4 แนวทางรับมือเหตุแผ่นดินไหวในอาคารลดตื่นตระหนก-ความเสียหาย

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แนะ 4 แนวทางป้องกันและรับมือเหตุแผ่นดินไหวในอาคารลดความตื่นตระหนกและความเสียหายต่ออาคารและที่อยู่อาศัย
ภคิน เอกอธิคม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัดกล่าวว่า หลังเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ข้อแนะนำในการจัดการเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวภายในอาคาร เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมทั้งย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอนดังนี้
เตรียมแผนอพยพ และฝึกซ้อมเป็นประจำ
การเตรียมแผนอพยพที่ชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันทีในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยแผนดังกล่าวควรครอบคลุมการประสานงานของทีมอาคารและการอพยพของผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร ควรมีการฝึกซ้อมแผนอพยพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และมีการซ้อมย่อยทุก 3-6 เดือน เพื่อให้ทุกคนคุ้นเคยกับขั้นตอนและสามารถปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง
ปฏิบัติตามแผนอพยพเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
หากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและผู้คนในอาคารรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงและต่อเนื่อง หรือมีอาการเวียนหัวและสิ่งของหล่นหรือสั่นสะเทือน ควรปฏิบัติตามแผนอพยพทันที โดยใช้การประกาศเสียงตามสายหรือสัญญาณเตือนภัย เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในอาคารอพยพไปยังจุดรวมพลที่ปลอดภัย ซึ่งควรตั้งอยู่ห่างจากตัวอาคารในระยะที่มากกว่าความสูงของอาคาร เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่เกิดเหตุอาคารถล่ม
การตรวจสอบความปลอดภัยและติดตามข้อมูล
หลังจากการอพยพเรียบร้อยแล้ว ต้องมีการตรวจสอบรายชื่อหรือจำนวนผู้อยู่อาศัยภายในอาคารเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครตกหล่น ก่อนจะติดตามข้อมูลจากหน่วยงานราชการหรือศูนย์แจ้งเตือนภัยพิบัติ รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อตรวจสอบว่ามีโอกาสเกิด Aftershock หรือไม่
การตรวจสอบความเสียหายภายในอาคาร
เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ช่างอาคารจะต้องทำการตรวจสอบความเสียหายในสองส่วนหลัก ได้แก่
o โครงสร้างของอาคาร โดยเฉพาะเสา คาน และส่วนอื่นๆ ที่อาจได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน หากพบรอยร้าวหรือความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอาคาร ควรให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินเพิ่มเติม และห้ามไม่ให้มีผู้คนเข้าไปในบริเวณอาคารเพื่อความปลอดภัย
o ระบบประกอบอาคาร เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ท่อน้ำใช้ และท่อน้ำทิ้ง โดยตรวจสอบว่ามีการชำรุดหรือรั่วซึมหรือไม่ หากไม่มีความเสียหายร้ายแรง อาคารสามารถใช้งานต่อได้ตามปกติ ก็สามารถเปิดให้ผู้คนเข้าใช้งานได้
“การเตรียมความพร้อมทั้งในด้านแผนปฏิบัติการและการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงและปกป้องชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีอาคารสูงและจำนวนประชากรหนาแน่น การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้อยู่อาศัยได้อย่างสูงสุด”