แสนสิริ จี้แบงก์ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม10% ฟื้นตลาดอสังหาฯ

แสนสิริ จี้แบงก์ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม10% ฟื้นตลาดอสังหาฯ

เปิดมุมมอง แสนสิริ ต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ชี้ มาตรการเชิงรับมากกว่าเชิงรุกไม่ทันสถานการณ์ แนะธนาคารปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มอีก 10% ฟื้นตลาดอสังหาฯ

เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลงเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ไปจนถึงกลางปี 2569 เป็นการกระตุ้นที่ดีสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในแง่ของการ "ลดต้นทุน" แต่ทว่าในมุมมองของ ภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ ประธานผู้บริหารสายงานกลยุทธ์  แสนสิริ  กลับแสดงถึงความกังวลว่า มาตรการที่ประกาศมา “ช้าเกินไป” และมีลักษณะ "เชิงรับ" มากกว่า “เชิงรุก” ซึ่งอาจไม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ได้อย่างที่คาดหวัง เพราะมีปัจจัยลบเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ผ่านดินไหวและมาตรการภาษีทรัมป์

"มาตรการที่ออกมาเป็นเชิงรับ(Reactive)ไม่ใช่เชิงรุก ( Proactive) เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มเห็นสัญญาณเชิงลบมา1 ปีแล้ว ห่วงโซอุปทานต่างๆ ได้รับผลกระทบและบอบช้ำไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนในความพยายามทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เพราะมาช้ายังดีกว่าไม่มา"
 


 

ภูมิภักดิ์ ระบุว่า  แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่เคยใช้ประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต แต่ปัจจุบันสิ่งที่ภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญอยู่นั้น คือการ "กำลังซื้อ" ที่ติดขัดอยู่กับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็น "กับดัก" ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตย่อมทำให้กำลังซื้อไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เร็วพอ ไม่ต่างจากการที่น้ำยังไหลไม่ถึงปลายทาง

เขากล่าวต่อไปว่า หากถามว่า "วันนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องการอะไร?" คำตอบของเขาคือ “การเพิ่มกำลังซื้อ” แต่จะทำได้อย่างไร? คำตอบเดียวคือต้องให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ในช่วงนี้เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเติบโตได้ถ้าไม่มีการปล่อยสินเชื่อ !

สำหรับหนี้สินจากที่อยู่อาศัยที่หลายคนมองว่าเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ภูมิภักดิ์เห็นว่าไม่ควรนำมามองเป็นอุปสรรค เพราะหนี้ที่อยู่อาศัยนั้นถือเป็นหนี้ที่ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL (Non-Performing Loan) น้อยที่สุด! ซึ่งหมายความว่าหนี้สินประเภทนี้ยังถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่ค่อยมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระ 

จากนี้ หากธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปีนี้ คาดว่าจะช่วยเสริมสร้าง"ปัจจัยบวก"ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น หากควบคู่กับการลดอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่ลดลงมากตามที่ ธปท. ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากมีสเปรดที่แคบลง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อทำได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน ภูมิภักดิ์ยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบ GDP ของไทยโดยตรง สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อกำลังซื้อในประเทศเริ่มลดลง การส่งออกซึ่งมีสัดส่วนถึง 70% ของ GDP ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดในภาคการค้าระหว่างประเทศ

ในขณะที่ภาครัฐจะมีปัญหาในเรื่องของการขยายการใช้จ่ายไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากกรอบหนี้สาธารณะที่ 70% ทำให้ไม่สามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบได้เพียงพอ ดังนั้น “ทางรอด” ของไทยจึงเป็นการ"ดึงดูด"การลงทุนจากต่างชาติ ด้วยการปรับกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 ปีในการสร้างกระแสเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศ

เมื่อมีการลงทุนจากต่างชาติ ความต้องการที่อยู่อาศัยในตลาดก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้หากการเช่าต่อระยะยาวไม่มีการขยายเพิ่มขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยพลาดโอกาสในการมีเงินใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

ท้ายที่สุดแล้ว ภูมิภักดิ์ก็ไม่ลืมที่จะกล่าวถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า  สิ่งที่ควรทำคือการให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด! โดยไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับ"ความเชื่อมั่น"ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดคอนโดที่ได้รับผลกระทบจากความ"วิตกกังวล"   ขณะที่ความต้องการในโครงการแนวราบกลับเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ในยามวิกฤตยังมี"โอกาส"

ในท้ายที่สุด ภูมิภักดิ์เชื่อว่า ปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายไปในไม่ช้า เมื่อเวลาเยียวยาความตึงเครียดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาใหม่ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ความต้องการที่อยู่อาศัยในประเภทคอนโดจะกลับมาอีกครั้ง! และประเทศไทยจะยังคงมีการปรับตัวไปพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้เหมือนกับประเทศที่เคยประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะท้าทาย แต่ทุกวิกฤตก็มีโอกาสแฝงอยู่เสมอ !