"กัญชาเสรี" ไปไม่ถึงฝัน...ต้องรอหลังประกาศใช้ 9 มิ.ย.ใครปลูก..ใช้ได้บ้าง?
9 มิ.ย.2565 นี้ จะครบ 120 วัน ประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้มีผล “กัญชา” ไม่ใช่ยาเสพติด ประเภท 5 ทั้งส่วนของช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น รากและเมล็ด ซึ่งตามร่างดังกล่าว จะควบคุมเรื่องการปลูก สกัด ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เป็นหลัก รวมถึงการใช้ในเชิงนันทนาการด้วย
หลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และ และ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 65 ซึ่งจะมีผลหลังจาก 120 วัน
ต่อจากนั้นก็เกิดข้อถกเถียงมากมาย ถึงการนำ “กัญชา” มาใช้ โดยเฉพาะการปลูกกัญชา หากใช้ประโยชน์ในครัวเรือน สามารถทำได้หรือไม่ และต้องมีการดำเนินการอย่างไร?
โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า การปลูกกัญชาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ต้องมีการจดแจ้งกับผู้ว่าราชการในจังหวัดต่างๆ เช่น ในกรุงเทพมหานคร จะต้องมี หรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย สำหรับพื้นที่อื่นๆ ต้องจดแจ้งต่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือผู้ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมาย ซึ่งผู้ขอจดแจ้งต้องเพาะ ปลูก กัญชา กัญชงตามที่ได้จดแจ้งไว้
ส่วนผู้ที่ปลูกเพื่อผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขาย ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ อย. มอบหมาย ส่วนการสกัด-แปรรูป ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.เช่นกัน ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สำหรับข้อห้ามสำคัญ ห้ามขายกัญชา กัญชง เเก่บุคคลดังต่อไปนี้
- ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี
- สตรีมีครรภ์
- สตรีให้นมบุตร
- บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
- หนุนกัญชาเสรี คาดเกิด 3 สถานการณ์หลัง 9 มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามข้างต้น ไม่ใช้บังคับแก่การขายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สั่งจ่ายให้แก่คนไข้ของตน เพื่อประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค ส่วนการโฆษณา ต้องมีการขออนุญาตกับ อย.ก่อน ส่วนข้อกังวลเรื่องการควบคุมการใช้ในเชิงสันทนาการ ในร่างดังกล่าวไม่มีระบุถึงการควบคุมกำกับไว้ชัดเจน
ด้วยความที่ยังไม่มีการปลดล็อกชัดเจน ทำให้หลายๆ องค์กร ได้ออกมาวิพากษณ์วิจารณ์และร่วมผลักดันประเด็น กัญชา อย่าง กลุ่มสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน ระบุว่า หลังจากวันที่ 9 มิ.ย. วันปลดล็อกกัญชา มี 3 Scenario ที่อาจจะเกิดขึ้น คือ
1.เกิดกฎกระทรวงมากำกับ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง
2.ปลดล็อกเสรีเหมือนกระท่อม แต่เปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะเกิดแบบนี้
3.จับยัด พ.ร.บ.ขึ้นมาจนทันเป็นมุมทางการเมือง เป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลระส่ำระสาย ดันไปมาจนปลดล็อก
อีกทั้ง มองว่าพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว หากหลับตาอ่านแล้วนึกตาม ข้อดีคือ นิยามหลักในการใช้ จากคำว่า ‘เสพ’ เปลี่ยนเป็น ‘บริโภค’ ซึ่งครอบคลุมทุกอย่าง เปลี่ยนมุมมองเรื่องกัญชาได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่องที่ไม่โอเค คือ กฎในการปลูก การใช้ และขออนุญาต คือสิ่งที่น่ากลัวว่าจะมีการไปออกกฎกระทรวงอะไรอีกหรือไม่ เช่น ต้องมีทุนจดทะเบียน 100 ล้าน เหมือนเบียร์ เป็นต้น ต้องเอามากางบนโต๊ะ ถึงจะยอมรับได้
- กัญชาทางการแพทย์ ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง ติดเตียง
พล.ท.สีหเดช ดีสนธิโชติ ประธานสถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการเเพทย์ มีเป้าหมายในการพัฒนาสายพันธุ์ และเทคนิควิธีการต่างๆ โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาต่อยอด นำสารสกัดจากกัญชาทดแทนการใช้มอร์ฟีนกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ มีงานวิจัยรองรับแล้วว่ากัญชามีคุณสมบัติมากมายขนาดไหนและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก มาวันนี้ สถาบันฯ จึงอยากดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เพื่อช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น อย่างน้อยถ้าเราสามารถนำผลิตภัณฑ์ผลิตผล มาช่วยเหลือดูแล บำบัด และเขาสามารถลุกขึ้นมานั่งได้ ยืนได้ เดินได้ ก็ถือเป็นความมหัศจรรย์แห่งชีวิต
- ปลดล็อก แต่ไม่เสรีให้เอกชนปลูกเชิงพาณิชย์ได้
โดยเบื้องต้นตั้งใจทำโครงการนำร่องที่จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 1,000 คน อีกทั้งได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากบีโอไอ ในรูปแบบจัดตั้งนิคมเกษตรนวัตกรรม ในพื้นที่ Waldo 888 กว่า 1,000 ไร่ จึงอยากจะคืนประโยชน์ให้กับสังคม
"420 กัญชาโลก 609 กัญชาไทย ในฐานะที่เราเป็นสถาบัน เราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงปลดล็อกกัญชาไทยเต็มรูปแบบ เราได้ทำการส่งเสริมให้เกษตรกร และวิสาหกิจต่างๆ เข้าถึงได้ แต่ปัญหาคือ อย.ยังไม่อนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่งปลูกกัญชาเชิงพาณิย์เต็มรูปแบบ ที่สามารถผลิตและส่งออกได้ จึงอยากให้ภาครัฐจัดตั้งองค์กรใดองค์หนึ่ง ในการส่งเสริมอย่างจริงจัง "พล.ท.สีหเดช กล่าว
- “กัญชา” มีทั้งคุณและโทษ ต้องรู้จักใช้
สำหรับการศึกษาผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา พบว่า “กัญชา” ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการทำเคมีบำบัดได้ แต่ทั้งนี้ยังมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มึนงง ง่วง และอ่อนเพลีย
แม้จะมีข้อมูลการศึกษาที่พบว่า สามารถช่วยรักษาอาการปวดจากมะเร็งได้ แต่การบรรเทาอาการอื่นๆ เช่น อาการเบื่ออาหาร หรือนอนไม่หลับนั้น ข้อมูลการศึกษาก็ยังไม่ชัดเจน
ฉะนั้น การใช้สารสกัดจากกัญชาในกรณีนี้ จึงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล และต้องเฝ้าระวังโดยติดตามอาการข้างเคียงจากการใช้อย่างใกล้ชิดด้วย
การใช้ยากัญชาที่ไม่ได้มีการวางแผนการรักษาและไม่ได้มาตรฐานการผลิต จะไม่สามารถกำหนดความเข้มข้นของปริมาณสารกัญชา และอาจจะมีสารพิษอื่นๆ เจือปน จึงอาจเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ มองเห็นสีผิดปกติ คลื่นไส้ ความจำลดลง ความดันโลหิตต่ำ ปากแห้ง เกิดความผิดปกติทางจิต เช่น ซึมเศร้า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาตลอด ห้ามหยุดยา แล้วหันมาใช้ยากัญชาในการรักษา เพราะจะทำให้เกิดอันตรายจนเสียชีวิตได้
สารสกัดกัญชาหรือยากัญชา ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป แม้ผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยยากัญชา ก็ไม่สามารถซื้อสารสกัดกัญชาใช้เอง แต่ต้องผ่านการวางแผนการรักษาจากแพทย์ นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การรักษาด้วยสารสกัดกัญชา จะต้องผ่านการอบรมมีใบอนุญาตการสั่งจ่ายรักษา ก่อนจะจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้รับจากสถานที่ผลิตมาตฐานที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง และต้องพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นก่อน เพราะยากัญชาไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการรักษาโรค
- Pymed Card พกกัญชายังผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้แม้หลายๆ ภาคส่วนพยายามผลักดันให้เกิด "กัญชาเสรี" ทั้งการปลูก การใช้ การจำหน่าย แต่ทั้งนี้ในประเทศไทยคงยังไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ต้องเป็นตามกรอบของกฎหมาย ดังนั้น กรณีที่มีการเผยแพร่ทางสื่อโซเชียล กรณีผู้ลงทะเบียนกัญชาบำบัด ทำบัตร Pymed Card เสียค่าสมาชิกคนละ 700 บาท สามารถพกพาและสูบกัญชาได้ไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงผ่านด่านตรวจเจ้าหน้าที่ก็ไม่จับกุมดำเนินคดี นั้น
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด ประเภท 5 และผิดกฎหมายอยู่ไม่สามารถพกพา ครอบครองหรือสูบได้ การปลูกก็ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. และการปลูกกัญชาที่ถูกต้องจะเป็นการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อการแพทย์ ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา จะมีผลปลดล็อกกัญชาในวันที่ 9 มิ.ย. 65
ทั้งนี้ การกระทำในสื่อออนไลน์ คาดว่า เป็นการหลอกลวงประชาชนผู้สนใจให้มาสมัครสมาชิกทำบัตรดังกล่าว อาจใช้ช่องว่างช่วงสถานการณ์ใกล้ปลดล็อกกัญชามาหาผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อย่าหลงเชื่อเด็ดขาดเพราะอาจกระทำผิดกฎหมายไปด้วย โดยสั่งเจ้าหน้าลงพื้นที่ตรวจสอบที่มาที่ไปอีกครั้ง
ในกลุ่มสายเฮิร์บผู้นิยมสูบกัญชา ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงบัตร Pymed Card ที่อ้างว่า สามารถนำติดตัวเดินทางได้ และสามารถผ่านสนามบินขึ้นเครื่องบินได้ทั่วโลก ว่า ภายหลังสมัครเป็นสมาชิกไปแล้วนั้น ได้พกพากัญชา
พร้อมแสดงบัตรดังกล่าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ซึ่งเจ้าของบัตรหลายราย จึงขอคืนบัตรพร้อมเรียกคืนค่าสมัครเป็นสมาชิก อีกทั้งได้รวมกลุ่มกันเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของผู้ออกบัตรดังกล่าว
อ้างอิง: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ,สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และโรงพยาบาลพญาไท