22 เมษายน “วันคุ้มครองโลก” พร้อมส่อง 5 ผลกระทบเมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย

22 เมษายน “วันคุ้มครองโลก” พร้อมส่อง 5 ผลกระทบเมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย

“วันคุ้มครองโลก” เกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชวนรู้จัก 5 ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อสิ่งแวดล้อมโลกถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Environment Program หรือ "UNEP") ได้กำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปี เป็น "วันคุ้มครองโลก" หรือ "Earth Day"

โดยผู้ที่ริเริ่มแนวคิดวันคุ้มครองโลกคนแรกก็คือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา จนเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2513 ประชาชนชาวอเมริกันที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม กว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันมารวมตัวชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก

ผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดก็มีการกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปี เป็น "วันคุ้มครองโลก" หรือ "Earth Day" โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2513 เป็นต้นมา

แม้ว่าจะมีการรณรงค์และเรียกร้องในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ปัจจุบันนี้โลกยังคงถูกทำลายลงไปทีละน้อยโดยน้ำมือมนุษย์

นอกจากจะส่งผลให้เกิดปัญหา "ภาวะโลกร้อน" ที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบอื่นๆ ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปี, พื้นที่ไร้ออกซิเจนใต้ทะเลที่เพิ่มขึ้น, พื้นที่ป่าที่ค่อย ๆ ลดน้อยลง,  ไมโครพลาสติก และ ขยะอิเล็กทรอนิกส์

  • ปัญหา "ฝุ่น PM 2.5" เลี่ยงไม่ได้แต่ช่วยกันลดได้

ข้อมูลจากเว็บไซต์ GREENPEACE ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 มาจากทั้งแหล่งกำเนิดปฐมภูมิ เช่น การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาในที่โล่งและอุตสาหกรรมการผลิต และแหล่งกำเนิดในขั้นทุติยภูมิ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศ

โดยมีสารกลุ่มซัลเฟอร์หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น ดังนั้น การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลและการผลิตทางอุตสาหกรรม เมื่อเกิดการรวมตัวกันในบรรยากาศจะมีผลต่อการก่อตัวของ ฝุ่น PM 2.5 ขั้นทุติยภูมิอีกด้วย

ดังนั้น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อาจเป็นเหมือนเรื่องที่ยากต่อการแก้ไข แต่หากทุกคนมีวินัยและร่วมมือกันก็จะสามารถลดปัญญหาเหล่านี้ได้ เช่น การตรวจสภาพรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดควันดำ หลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย หรือการเผาในโรงงานอุตสาหกรรม

เรื่องเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ แต่ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมหรือการผลิตไฟฟ้านั้นอาจดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้พลังงานสะอาดมาใช้ผลิตแทนได้เพื่อลดการก่อฝุ่น PM 2.5 

 

  • ปัญหา "พื้นที่ไร้ออกซิเจน" ใต้ทะเลขยายใหญ่ขึ้น

หลายคนอาจเข้าใจว่าออกซิเจนส่วนใหญ่ที่สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลกใช้ในการหายใจนั้นส่วนใหญ่มาจากต้นไม้บนพื้นโลก แต่ในความจริงอีกมุมหนึ่ง มหาสมุทร ก็ถือว่าเป็นอีกแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลก

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไทย ระบุว่า ระบบนิเวศทางทะเลเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่มีสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดอาศัยอยู่รวมกันมากมาย รวมทั้งมนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากท้องทะเลอย่างมหาศาล แต่ในปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบนิเวศทางทะเลกำลังถูกรบกวนอย่างหนัก

นอกจากปัญหา "ขยะทะเล" ที่เป็นปัญหาใหญ่ในทุกๆ มหาสมุทรทั่วโลกแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อนก็คือ "ภาวะขาดออกซิเจนในทะเล" (Deoxygenating) หรือเรียกว่า "เขตมรณะ" (Dead zones)

ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างมากขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้ประชากรสัตว์ทะเลลดปริมาณลงอย่างน่าเป็นห่วง และกำลังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการประมง 

"เขตมรณะ" กำลังขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 4 เท่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 เป็นต้นมา และปัจจุบันมีขนาดเท่ากับดินแดนของชาติในสหภาพยุโรปรวมกัน ซึ่งเป็นผลมาจาก "ภาวะโลกร้อน" ที่ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นและกักเก็บออกซิเจนได้น้อยลง 

ส่วนพื้นที่ขาดออกซิเจนใกล้ชายฝั่งก็มีเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยทำการเกษตร รวมทั้งการทิ้งของเสียลงแหล่งน้ำใกล้ทะเล

แม้ว่าบางปัญหาอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ทันที แต่โชคดีที่บางปัญหาเราทุกคนยังสามารถแก้ไขได้ทัน นั่นคือ ปัญหาขยะพลาสติก ที่มักพบได้ตามชายหาดและใต้ทะเล ซึ่งเราต้องช่วยกันลดขยะ และทิ้งขยะลงถังให้เป็นที่เป็นทาง

 

  • ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง

“ป่าไม้” ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีค่า และให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน รวมถึงรักษาความสมดุลของภาวะแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติ และที่สำคัญช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

เว็บไซต์ TCIJ ระบุว่าสาเหตุที่ทําให้เกิดภัยธรรมชาตินั้น ส่วนใหญ่มาจากการลักลอบตัดไม้ การเผ่าป่า ทําลายป่าจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่าไม้ ทําให้เกิดความไม่สมดุลของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ยืนยันได้จากภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา

มีข้อมูลรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี 2562 - 2563 โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2561 – 2562 จำนวน 102,484,072.71ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ. 2560 - 2561 จำนวน 4,229.48 ไร่

ดังนั้น การที่จะรักษาป่าไม้ให้คงอยู่ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องยากหากทุกคนให้ความร่วมมือในการช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ เพราะมนุษย์จำเป็นจะต้องอยู่อาศัยบนโลกนี้ไปอีกนาน 

 

  • ปัญหาไมโครพลาสติก ตรวจพบในร่างกายมนุษย์

“ไมโครพลาสติก”  (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กมาก โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล
  2. Secondary microplastics เกิดจากพลาสติกขนาดใหญ่ ที่สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน จนเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก จนมีขนาดเล็ก และกลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแหล่งน้ำและทะเล

"ไมโครพลาสติก" ถือเป็นภัยเงียบที่ร้ายกาจ เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเริ่มมีการค้นพบ "ไมโครพลาสติก" ในร่างกายมนุษย์ เช่น เลือด ปอด และร่างกายของเด็กทารก

ดังนั้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อโลกแล้ว ไมโครพลาสติกก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ด้วย แต่ทั้งนี้ต้องติดตามงานวิจัยที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ต่อไป ส่วนในชีวิตประจำวันเราสามารถลดปัญหาไมโครพลาสติกได้ โดยลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น รู้จักแยกขยะ ไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ เป็นต้น

 

  • ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปล่อยสารพิษสู่โลก

ข้อมูลจาก NATIONAL GEOGRAPHIC ระบุว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (Electronic Waste หรือ E-waste) คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่าง ๆ ที่ใกล้หมดอายุการใช้งาน ล้าสมัย และไม่เป็นที่ต้องการ กลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งกองรวมกับขยะอื่นแล้วถูกนำไปฝังกลบ นำไปเผา (ซึ่งเป็นการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผิดวิธี) บ้างก็ถูกขายต่อให้ซาเล้ง หรือร้านรับซื้อของเก่า 

ในยุคที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ผลิตอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ เร็วขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนอุปกรณ์บ่อย และทิ้งของเก่าเร็วขึ้นตามไปด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งจึงมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

หากกำจัดขยะเหล่านี้ไม่ถูกวิธี ก็จะให้สารเคมีที่เป็นพิษรั่วไหลออกมา และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น สารปรอทในหลอดไฟและจอภาพสมัยใหม่, สารตะกั่วและดีบุกในลวดบัดกรี, สารแคดเมียมในแผงวงจรต่าง ๆ

จริงๆ แล้วการกำจัด “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ต้องเลือกแหล่งกำจัดที่เหมาะสมและถูกต้องตามมาตรฐานสากล นั่นคือ การนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลที่ปลอดภัย หรือโรงงานคัดแยกขยะที่ได้มาตรฐาน โดยโรงงานจะมีวิธีการถอดแยกชิ้นส่วนที่ถูกต้อง ก่อนจะถูกนำมาอัดเป็นก้อน เพื่อเตรียมส่งต่อไปยังโรงงานที่มีศักยภาพ เช่น โรงหลอมโลหะ หรือโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เป็นต้น

ทั้งนี้ หากกำจัดขยะเหล่านี้ไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลกระทบอันตรายร้ายแรงทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม นี่คงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป ก่อนที่ขยะเหล่านี้จะก่อพิษให้โลกมากไปกว่าเดิม