สิ่งที่ต้องเตรียม ก่อนการ "เปิดประเทศ"
1 พ.ค. ไทยเตรียมเข้าสู่การ “เปิดประเทศ” หลัง “ศบค.” ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 หวังช่วยฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ
เป็นที่แน่นอนว่า วันที่ 1 พ.ค. 2565 จะเข้าสู่การ "เปิดประเทศ" ภายหลังที่มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคหลายแนวทาง
โดยเฉพาะมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งกำหนดให้ผู้ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด ยังคงผ่านระบบ Thailand Pass เพื่อแสดงหลักฐานวัคซีนและประกันภัย แต่ยกเลิกข้อกำหนดการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย หรือระหว่างที่พำนักในประเทศไทย แต่มีการแนะนำให้ตรวจด้วย ATK
เหตุผลสำคัญที่นำมาสู่การเปิดประเทศคือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศลดลง โดยในเดือน ก.พ. 2565 มีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศตรวจพบเชื้อ 4,597 คน ส่วนเดือน มี.ค. 2565 พบผู้ติดเชื้อ 1,584 คน และระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย. 2565 พบผู้ติดเชื้อ 1,446 คน
ซึ่งภาครัฐประเมินว่ามีความพร้อมในการรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยกรณีผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกำหนดให้กักตัว 5 วัน พร้อมทั้งสังเกตอาการ 5 วัน และแนะนำให้ตรวจ ATK ในวันที่ 5 และวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ
การเปิดประเทศจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทุกด้าน ซึ่งหลายด้านทำได้ดีและหลายด้านต้องปรับปรุง แต่เมื่อเข้าสู่โหมดการเปิดประเทศแล้ว มีความจำเป็นที่ทุกด้านต้องพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล การเตรียมเตียง การเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 โดยปัจจัยความพร้อมทั้งหลายรวมกับจำนวนผู้ติดเชื้อในอนาคตจะนำมาสู่การประกาศเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทยได้บนสถานการณ์ที่เหมาะสม
ในขณะที่การฉีดวัคซีนยังเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหรือบรรเทาอาการของโรค โดยนับตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 นับถึงปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 132 ล้านเข็ม แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 56.0 ล้านราย เข็มที่ 2 จำนวน 50.8 ล้านราย เข็มที่ 3 จำนวน 25.2 ล้านราย ซึ่งผู้ฉีดวัคซีน 3 เข็มคิดเป็น 36.2% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และมีกลุ่มที่เพิ่งเริ่มให้ฉีดหรือกลุ่มที่มีอัตราการฉีดยังไม่สูง เช่น เด็กอายุ 5-11 ปี
นอกจากนี้ การเปิดประเทศมีเหตุผลสำคัญอีกเหตุผลคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีความคาดหวังว่าการเปิดประเทศจะช่วยฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ โดยหลายธุรกิจตอบรับกับการเปิดประเทศ เช่น สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งหลายประเทศเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย
ดังนั้น นับจากนี้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมต้องมีความชัดเจน และเป็นแผนที่หวังผลได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จึงเป็นอีกประเด็นที่สำคัญที่ต้องเตรียมก่อนเปิดประเทศ