เงื่อนไข 3 ข้อประกาศเข้าสู่ "ฤดูฝน" จับตาพายุฝนฟ้าคะนอง 29 เม.ย.-5 พ.ค.2565
"กรมอุตุนิยมวิทยา" เปิดเงื่อนไขการประกาศเข้าสู่ "ฤดูฝน" จับตาพายุฝนฟ้าคะนอง 29 เม.ย.-5 พ.ค.2565 เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน
"กรมอุตุนิยมวิทยา" เปิดเงื่อนไขการประกาศเข้าสู่ "ฤดูฝน" โดยพิจารณาจากปัจจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา ดังนี้
- มีฝนตกชุกต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
- ทิศทางลมตั้งแต่ระดับล่างใกล้ผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กม.เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศอย่างต่อเนื่องติดกัน 1-2 สัปดาห์
- ลมชั้นบน ตั้งแต่ระดับความสูง 5 กม.ขึ้นไป เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "พยากรณ์อากาศ" อุณหภูมิวันนี้ เช็กพื้นที่อากาศร้อนถึงร้อนจัดสูงสุด 41 องศา
สำหรับการเตรียมเข้าสู่ "ฤดูฝน" ปี 2565 หรือ Pre-Southwest Monsoon คือ ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน เป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนทิศทางของลมที่พัดปกคลุมประเทศไทย เปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
สภาพอากาศช่วงก่อนเข้าฤดูฝน ระบบลมจะมีทิศทางแปรปรวน อาจมีแนวสอบของลม 2 กระแส อากาศร้อน ฝนระบุเวลาได้ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับลมที่พัดปกคลุม
- ลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ฝนมักตกช่วงเช้าถึงสาย
- ลมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนมักตกช่วงบ่ายถึงค่ำ
ภาพกราฟฟิก แสดงการพยากรณ์ฝนรวมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.)10 วันล่วงหน้า (ุ26 เม.ย.-5 พ.ค.65) (ระหว่างเวลา 07.00น. - 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) จากแบบจำลองฯ กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ในช่วงวันที่ 25-28 เม.ย.2565 ทั่วไทยยังมีฝนน้อย อากาศร้อนและร้อนจัดบางพื้นที่ เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว ทำให้ยังมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางแห่ง สำหรับลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางแห่ง ระยะนี้ต้องระวังฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ และระวังสุขภาพโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ระวังโรคลมแดด (Heat stroke) จากอากาศที่ร้อนและร้อนจัด
ส่วน ช่วง 29 เม.ย. - 5 พ.ค.2565 ประเทศไทยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ประกอบกับยังมีลมตะวันออกพัดปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ ทิศทางเริ่มแปรปรวน ต้องเฝ้าระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ส่วนบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวขึ้น อาจจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุได้ แต่มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ หรือทางตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่จะช่วยทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) พัดปกคลุมประเทศไทย เป็นสัญญาณก่อนการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนต่อไป
กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับข่าวลือ ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นระยะๆ เนื่องจากช่วงนี้จะเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านฤดูหรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (Pre-Southwest monsoon) บางวันยังมีอากาศร้อน ทิศทางลมมีหลายกระแส ฝนที่ตกจะขึ้นอยู่กับทิศทางของลมที่พัดปกคลุม เข่นถ้าลมทิศใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ฝนมักจะเกิดขึ้นได้ช่วงเช้าถีงสาย ส่วนถ้าเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนจะเกิดขึ้นช่วงบ่ายถึงค่ำ