9 ข้อต้องรู้ “ปูเสฉวน” ช่วยเหลือเกื้อกูลชายหาดและ "ทะเลไทย" อย่างไร?
ชวนดู 9 เรื่องต้องรู้ “ปูเสฉวน” มีลักษณะเป็นอย่างไร ช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรชายหาดทะเลบ้าง และอะไรที่เป็นภัยอันตรายที่สายอนุรักษ์ธรรมชาติต้องเข้าใจให้มากขึ้น
จากกรณียูทูบเบอร์ช่องหนึ่งจับ “ปูเสฉวน” จากธรรมชาติเอามาเลี้ยง ซึ่งอาจเป็นการเผยแพร่ค่านิยมผิดๆ ที่อาจทำให้วงจรชีวิตของสัตว์หน้าหาดและระบบนิเวศของธรรมชาติเปลี่ยนไปในอนาคต
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู 9 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “ปูเสฉวน” ในด้านบทบาทที่ช่วยเกื้อกูลชายหาดทะเลไทย พร้อมส่องภัยร้ายที่สร้างอันตรายให้ปูน้อยในเปลือกหอยเหล่านี้ มีอะไรบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. “ปูเสฉวน” ลักษณะเป็นอย่างไร?
- “ปูเสฉวน” เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ทั่วโลกมีทั้งหมด 17 ชนิด
- มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างปูและกุ้ง โตเต็มที่ไม่เกิน 0.5-5 นิ้ว
- ส่วนขามีทั้งหมด 10 ขา (ขา 3 คู่แรกอยู่นอกเปลือก และ 2 คู่หลังยึดเปลือกหอยด้านใน)
- ลำตัวมีความอ่อนนุ่ม ต้องอยู่ในเปลือกหอยเพื่อป้องกันตัวเอง
- ในประเทศไทยพบอย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ สายพันธุ์ Coenobita brevimanus, สายพันธุ์ Coenobita violascens และสายพันธุ์ Coenobita rugosus
2. ความสำคัญของก้ามและบ้านของปูเสฉวน
- ปูเสฉวนจะมี “ก้าม” แต่ละข้างไม่เท่ากัน โดยก้ามจะทำหน้าที่เป็นอาวุธ และเป็นฝาปิดรูเปลือกหอยเพื่อป้องกันอันตรายภายนอก
- ส่วน “บ้าน” ของปูเสฉวน คือ “เปลือกหอย” หากอยู่นอกเปลือกหอย ปูอาจจะตายได้ใน 24 ชม. สำหรับเหตุผลที่ปูเสฉวนจะออกจากเปลือก มีด้วยกัน 2 ข้อ คือ เพื่อผสมพันธุ์และเพื่อเปลี่ยนเปลือกหอยใหม่เมื่อปูเติบโตจนมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น
3. ปูเสฉวนหายใจใต้น้ำไม่ได้
ปูเสฉวนเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถอยู่ในน้ำได้นาน เพราะระบบการหายใจถูกพัฒนามาให้รับออกซิเจนใต้น้ำได้โดยตรง ถ้าลงน้ำเป็นเวลานานก็ทำให้จมน้ำและตายได้
4. เป็นเทศบาลประจำชายหาด
ปูเสฉวนมีข้อดีตรงที่ สามารถช่วยกินซากพืช ซากสัตว์ สร้างให้ปุ๋ยกับดิน และทำความสะอาดชายหาดได้ จึงส่งผลดีต่อระบบนิเวศของชายหาดโดยรวม
5. ปูเสฉวนอยู่ไม่ห่างจากทะเล
ปูเสฉวนมักจะอยู่ในพื้นที่ป่าใกล้ชายฝั่ง เพราะต้องกินน้ำเค็มเพื่อเพิ่มแคลเซียมและเกลือแร่ให้ตัวเอง
6. การคุ้มครอง
ปัจจุบันปูเสฉวนยังไม่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์ต้องถูกคุ้มครอง แม้ทางภาครัฐจะมีการพยายามผลักดันข้อกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2542 (23 ปี)
7. การเพาะพันธุ์
ปูเสฉวนมักถูกจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศในธรรมชาติ อีกทั้งปูเสฉวนเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถเพาะพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ได้
8. ภัยร้ายจากพลาสติก
มีข้อมูลรายงานว่าปูเสฉวนตายมากกว่า 500,000 ตัวในทุกๆ ปี เพราะถูกขังในขยะพลาสติก หากตายจะปล่อยกลิ่นสารเคมีออกมา ซึ่งทำให้ตัวอื่นๆ เข้ามาติดในขยะพลาสติกชิ้นนั้นไปด้วยและตายตามกันไป
9. สิ่งที่ต้องระวัง
ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้ปูเสฉวนไร้บ้านก็คือ การที่คนเราเก็บเปลือกหอยออกจากชายหาด พฤติกรรมนี้ส่งผลให้ปูเสฉวนหาเปลือกหอยขนาดที่เหมาะสมกับตนไม่ได้ จึงต้องไปอาศัยอยู่ในขยะพลาสติกต่างๆ แทน ซึ่งเป็นภาพน่าเศร้าที่พวกเราเห็นกันมาหลายต่อหลายปี
ก็ได้แต่หวังว่าปัญหาขยะทะเล ขยะชายหาด จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที
----------------------------