ทางรอดธุรกิจใช้หลักคิดESG ลดคาร์บอน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
SpringNews จัดสัมมนา SPRING NEWS SPECIAL FORUM INNOVATION x SUSTAINABILITY ขับเคลื่อนธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ และสังคมผ่านแนวคิด ESG 3 ต้นแบบด้าน ESG ของไทยและกลยุทธ์พาองค์กรไปผงาดในเวทีโลก พร้อมกับเจาะแนวคิดสู่การพิชิตความยั่งยืน
โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา ปาฐกถาพิเศษ “INNOVATION x SUSTAINABILITY นวัตกรรมนำธุรกิจยั่งยืน"
ใจความตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 ประเทศไทยได้ประกาศอย่างชัดเจนจะยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ด้วยทุกวิถีทางที่ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
รัฐบาลได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ BCG โมเดล ถือเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
- แนะภาคธุรกิจหนุนแนวคิด ESG
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่าการดำเนินการจำเป็นต้องได้รับการความร่วมจากทุกภาค โดยเฉพาะภาคเอกชน ถือหนึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย หากนำแนวคิดของ ESG หรือ Environment Social และ Governance ที่คำนึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลควบคู่กับการลงทุน มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่ยั่งยืนขอให้ทุกคนปรับเปลี่ยน พลิกโฉมองค์กรไปสู่แนวคิด Green discovery โดยนำหลักการ ESG มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อเป็นทางรอด ให้กับธุรกิจได้ด้วย
- บีทีเอสใช้พลังงานสะอาดเดินรถ10%
นายดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่ สายการลงทุนแลหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากลุ่มบริษัทบีทีเอสให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนควบคู่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการดำเนินธุรกิจรับส่งผู้โดยสารมาแล้วกว่า 3,600 ล้านเที่ยว ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 7.5 หมื่นตันต่อปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (SET50) ปล่อยคาร์บอนไดร์ออกไซด์ที่เฉลี่ย 11 ล้านตันต่อปี โดยสามารถคิดเป็นสัดส่วนการลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 1.9 ล้านตัน
โดยภายใน 2 ปีข้างหน้า (2565 - 2566) จะลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่เคยลดได้แล้ว 1.9 ล้านตัน คือประมาณ 3.8 ล้านตัน โดยตั้งเป้าว่าจะทำได้ภายใน 1 – 2 ปี บริษัทจะให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองภายในปีนี้
ทำให้มีระยะทางของการให้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 65 กิโลเมตร เป็น 135 กิโลเมตร จะใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนในการเดินรถให้ได้ไม่น้อยกว่า 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ปี 2565 จะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพื่อขายให้กับนักลงทุน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)ให้กับนักลงทุนมาแล้ว 2 รุ่น
- ดีแทคชู‘ESG’ยุทธศาสตร์องค์กร
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG ) คือหลักการที่ “ดีแทค”
โดยเฉพาะ“กลุ่มเทเลนอร์”ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ให้ความสำคัญ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย (Multi-Stakeholder) พนักงาน ชุมชน ภาคการศึกษา รัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแล ไปจนถึงผู้คนในซัพพลายเชนหรือลูกค้าที่ดีแทคเป็นซัพพลายเออร์ด้วย
โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศลง 50% ภายในปี 2573 และได้กำหนดเป้าหมายลดปริมาณการทิ้งขยะทั่วไปจากสำนักงานและขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบฝังกลบเป็นศูนย์หรือ zero landfill ภายในปี 2565
รวมทั้งนำเทคโนโลยีดิจิทัลผ่าน ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ ที่ปิดช่องว่างดิจิทัลส่งผลกระทบต่อผู้สูงวัยในประเทศไทยหรือแม้แต่ผู้พิการ เพราะดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งเสริมให้คนเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- เคทีซี ชูฟีเจอร์ยั่งยืนโมบายแอพฯ
นายชุติเดช ชยุติประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่าองค์กรมีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนกับลูกค้าและคู่ค้าในระยะยาว มีการตั้งทีมทำงานหลักเพื่อสนุบสนุนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในองค์กรในทุกกระบวนการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และทุกส่วนเกี่ยวข้องกับเคทีซีต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ผ่าน“เคทีซีโมบายแอพพลิเคชั่น” ตอบโจทย์“ดีต่อสิ่งแวดล้อม ”ลดการใช้ทรัพยากร เช่น ลดการใช้กระดาษและลดการเดินทางของลูกค้าในการทำธุรกรรม ประหยัดพลังงานลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ
ในปี 2564 มีจำนวนผู้ใช้เคทีซีโมบายและเคทีซีออนไลน์ ทั้งสิ้น 2.28 ล้านราย คิดเป็น 95%ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด ซึ่งโมบายแอพฯ ของเคทีซีนอกจากให้บริการทางการเงินแล้วยังให้สนับสนุนด้านความยั่งยืนอีกด้วย
- กรุงศรีเน้น“สินเชื่อ-บอนด์เพื่อสังคม”
นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY กล่าวว่า นโยบายทางการเงินสนับสนุนการประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG)ไม่ว่าจะเป็น ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารภายในปี 2573 2.ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2593
รวมทั้งลดการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573 และเปิดเผยข้อมูลทางการเงินอย่างโปร่งใสที่ครอบคลุมข้อมูลการปล่อย และเป้าหมายการปรับลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อและการลงทุนของธนาคาร เพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน เป็น 50,000-100,000 ล้านบาท ภายปี 2573
ออก “พันธบัตรเพื่อสังคม”รุ่นแรกโดยองค์กรภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกธนาคารระดมเงินมาได้ 6,500 ล้านบาท นำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีที่เป็นผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้บริหาร และผู้กู้ต้องมีมาตรฐานการการดำเนินงานภายใต้กรอบ ESG ปล่อยสินเชื่อได้ถึง 18,500 ล้านบาท เพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่สูงถึง 47,000 อัตรา เกินกว่า 50% เป็นการจ้างงานในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
- ธุรกิจหลีกเลี่ยงรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้
นายอาทิตย์ เวชกิจ ประธานคณะกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด และรองประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวคิดการพิชิตความยั่งยืนว่า การจะทำธุรกิจอยู่ในสังคมและโลกนี้ได้ จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ได้
เพราะการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศล้วนเกิดจากทุกคน ดังนั้น ทุกคนในโลกต้องช่วยกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นภาระ หรือเพิ่มต้นทุนให้เดือนร้อน แต่เป็นทางรอดของทุกภาคส่วน
“ไทยได้เข้าร่วมประชาคมโลกในการลดโลกร้อน และรัฐบาลได้มีการสนับสนุนภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ทั้งในลดต้นทุนการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาโครงการ Solar orchestra เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วนเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีกำลัง มีแรงทำและมีความสามารถในการดำเนินการ เข้าร่วมการทำธุรกิจตามหลัก ESG ไปใช้ในธุรกิจ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” นายอาทิตย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถ้าธุรกิจสามารถดำเนินโครงการ Solar orchestra ได้นั้น มีการติดตั้ง Solar 1MWp ไปจนถึง 25 ปี จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 90,000,000 บาท
- NRF พัฒนานโยบายตามหลักแนวคิดESG
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวว่าการลงทุนในภาคเอกชนขณะนี้ต้องคำนึงถึง ESG เพราะเงินที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประมาณ 20 ล้านล้าน US และต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็น 30 ล้านล้านUS ถ้าเราจะทำธุรกิจหนีไม่พ้นเรื่องนี้
อีกทั้ง ESG ทำให้ได้กรอบในการคิด การวางนโยบายของบริษัทได้ อย่าง ในส่วนของ NRF ได้มีการนำหลักแนวคิด ESG มากำหนดกรอบนโยบาย วิสัยทัศน์ของบริษัท โดยพนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทุกคนต้องร่วมกัน และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทิศทางวัฒนธรรมองค์กร
“เรามีกระบวนการที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด เพราะอุตสาหกรรมอาหาร ภาคเกษตรทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้ว ซึ่งการที่จะทำให้เป็นกลางคาร์บอน และลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ เรามีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาแปรรูปสิ่งที่ก่อให้เกิดคาร์บอน ก๊าซเรือนกระจกกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เป็นกิจการที่ลดคาร์บอน นอกจากนั้น การจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้นั้นสามารถนำแนวคิด ESG มาใช้ได้ และช่วยลดคาร์บอน รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย” นายแดน กล่าว