จากใจ "แรงงาน" ในวันที่ของแพง แต่ค่าแรงเท่าเดิม
แม้หนึ่งในข้อเสนอในวันแรงงาน 1 พ.ค. คือ ประเด็นการขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ" แต่อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนมองว่ากระทบต่อการดำรงชีวิตของ "แรงงาน" คือ ราคาสินค้า น้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น
ค่าแรงขั้นต่ำ "แรงงาน" ในปัจจุบัน จังหวัดต่ำสุดคือ 313 บาท จังหวัดสูงสุด คือ 336 บาท ซึ่งมีการเรียกร้องในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เท่ากันทั้งประเทศอัตรา 492 บาท ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้อธิบายว่า ต้องพิจารณาจากค่าจ้าง เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ให้สอดคล้องกับความจริงมาตรฐานทั่วโลก ต้องสร้างสมดุลทั้งสองฝ่าย หยิน หยางต้องสมดุล
"อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการปรับตามข้อเสนอของหลายๆ ท่าน เพราะมองว่าค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามาจากกรณีสงครามรัสเซียยูเครนด้วย ซึ่งหลายคนกลัวว่าเราจะเข้าข้างนายจ้าง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ปิดกิจการไปจะเอาเงินจากตรงไหนไปจ่าย เงินกองทุนว่างงานของประกันสังคมเพียงพอหรือไม่ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องไปให้ได้ถ้าทุกคนอยู่ได้ ขออย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักการความเป็นจริง" นายสุชาติ กล่าว
ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ในทันที แต่อีกประเด็นที่แรงงานมองว่า จำเป็นอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ คือ การคุมราคาสินค้าเพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตมากนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิด 10 ข้อมูล ‘แรงงานไทย’ ยุควิกฤติของแพง-ค่าแรงถูก
โควิด-สงคราม กระทบแรงงาน
วาสนา ลำดี เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เผยว่า โควิด-19 แรงงาน ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในทุกการใช้ชีวิต ตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน ต้องตรวจ ATK ค่าครองชีพถูกทำให้สูงขึ้น แต่รายได้ยังเท่าเดิม บางคนอาจจะลดลงกว่าเดิม เนื่องจากไม่มีโอที ทั้งนี้ ยิ่งเจอวิกฤติโควิด -19 ยิ่งแย่ รวมถึงสงครามรัสเซีย ยูเครน ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
โควิด เป็นสิ่งที่ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบยาวนาน แต่พอมาสมทบกับสงครามที่เกิดขึ้นทำให้กระทบมากขึ้นและวันนี้ 1 พ.ค. มีการประกาศปรับขึ้นราคาสินค้าคนไม่สามารถดำรงชีพได้ เพราะไม่มีมาตรการที่จะลดค่าครองชีพ
ภาครัฐ เองหยุดการขึ้นค่าจ้างมา 2-3 ปี เพราะโควิด-19 คนงานแบกต้นทุนชีวิต ชีวิตติดลบมานานหลายปี ติดลบทุกวัน จากการสำรวจคนงานไม่มีเงินเก็บ คุณภาพคนงานในอนาคต จะเป็นแบบไหนเมื่อสูงอายุ การบริหารแบบแจก แล้วจบ จริงๆ มันไม่จบ และไม่มั่นคง เพราะเราอยากดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง
แนะคุมราคาสินค้า
อย่างไรก็ตาม วาสนา มองว่า เรื่องเร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือ ควบคุมราคาสินค้าแบบจริงจัง ไม่ใช่ราคาเท่าเดิมแต่ปริมาณลดลง การควบคุมราคาสินค้าเท่าเดิม หมายถึง ยังคงคุณภาพเท่าเดิมด้วย รถสาธารณะทำอย่างไรให้ถูกลง ควบคุมราคาน้ำมัน อาหารสัตว์ วัตถุดิบ ลดต้นทุนการดำรงชีวิตคนงาน เช่น ATK หน้ากากอนามัย ใช้ทุกวัน เจลล้างมือ เป็นของที่ต้องใช้ รัฐจะควบคุมอย่างไร ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
เกษียณ เลือกบำเหน็จ บำนาญ
นายอนุชิต แก้วต้น เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา เรื่อง “เศรษฐกิจยุคโควิดมีผลกระทบกับแรงงานและค่าจ้างอย่างไร” เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยระบุว่า จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการโรงแรม เพราะมีการล็อกดาวน์ โรงแรมปิดกิจการ ออกจากงาน แต่ในส่วนของอุตสาหกรรม ผลกระทบ คือ ลดเวลาทำงาน การส่งออกมีปัญหา ลูกจ้างขาดรายได้ รัฐบาลมีการเยียวยาบางส่วน หลังจากลดเวลาการทำงาน ผลที่ตามมา คือ บางอุตสาหกรรมเล็กๆ เอสเอ็มอี ปิดกิจการ ถูกเลิกจ้าง เป็นแรงงานคืนถิ่น เป็นภาคแรงงานการเกษตร
"แรงงานไทย ในปัจจุบัน ต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ แรงงานไทยเหมือนตุ๊กตาล้มลุก สู้ชีวิต ล้มแล้วต้องลุกเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว หากไม่สู้ชีวิตก็อยู่ไม่ได้ และปรับตัวเพื่ออยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้"
"สิ่งที่อยากจะฝากถึงภาครัฐ ขอให้ผู้ประกันตนอายุ 55 ปี รับบำเหน็จบำนาญชราภาพให้เขาเลือก หากใครส่งไม่ถึง 180 เดือน ก็กินบำเหน็จ แต่หากส่งถึง 180 เดือนก็ให้เขากินบำนาญ หรือบำเหน็จ ให้เขาสามารถเลือกได้ เพราะมันเป็นเงินของเขา และฝากถึงรัฐบาล ได้เวลาแล้วที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีการปรับเลย ยิ่งเศรษฐกิจอย่างในช่วงโควิด อย่าให้เขาบอกว่า ข้าวของแพง แต่ค่าแรงถูก ดังนั้น ถึงเวลาที่จะขึ้นค่าแรงและค่าจ้างขั้นต่ำให้กับพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ"