พม.โพล เผยปชช.อยากให้ภาครัฐช่วยค่าครองชีพอย่างเร่งด่วน

พม.โพล เผยปชช.อยากให้ภาครัฐช่วยค่าครองชีพอย่างเร่งด่วน

พม.โพล “Feedback สังคมไทย ต่อภัย COVID-19”  เผยประชาชนอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพอย่างเร่งด่วน

วันนี้ (3 พ.ค. 65) เวลา 10.00 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานการแถลงข่าว พม.โพล “Feedback สังคมไทย ต่อภัย COVID-19” ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ 

นางพัชรี กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและกลุ่มเปราะบางในวงกว้างอย่างรอบด้านทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-11 ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” จึงได้จัดทำเรื่อง “Feedback สังคมไทย ต่อภัย COVID-19” เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม

โดยนำผลการสำรวจมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวง พม. และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากกระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญกับการทำงานที่อยู่พื้นฐานของข้อมูลของประชาชน

 

  • ผลสำรวจพม.โพล“Feedback สังคมไทย ต่อภัย COVID-19”

การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวมาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 4,400 หน่วยตัวอย่าง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) และการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีลงพื้นที่ภาคสนาม

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า ผล พม. โพล ครั้งนี้ ประกอบด้วย

1) ผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 72.23 เรียนไม่เข้าใจ ไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนลดลง ร้อยละ 67.77 เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต และร้อยละ 48.41 ผู้ปกครองมีภาระเพิ่มขึ้นในเรื่องการเรียนการสอน

พม.โพล เผยปชช.อยากให้ภาครัฐช่วยค่าครองชีพอย่างเร่งด่วน

2) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ต้องการมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การเรียนการสอนแบบ On-site (เรียนในสถานศึกษา) และมีข้อเสนอแนะด้านการศึกษาเพิ่มเติมว่า ถ้ามีการเรียนแบบออนไลน์ควรปรับลดเวลาเรียน เนื้อหาวิชาการ และการบ้าน เพื่อลดความเครียดของนักเรียน ควรมีการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์และค่าอินเตอร์เน็ต รวมทั้งลดค่าเทอมหรือไม่เรียกเก็บค่าเทอม

3) การได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ร้อยละ 74.02 ได้รับผลกระทบ และ ร้อยละ 18.75 ไม่ได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบที่ได้รับ มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 30.90 ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อันดับ 2 ร้อยละ 13.27 ต้องนำเงินเก็บ เงินออมมาใช้จ่าย และ อันดับ 3 ร้อยละ 11.92 การประกอบอาชีพยากลำบาก เช่น ขายของยากขึ้น

4) การปรับตัวทางด้านการเงิน พบว่า ร้อยละ 87.36 มีการปรับตัว โดยร้อยละ 77.86 มีการปรับตัวในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 50.60 หารายได้เพิ่ม และร้อยละ 31.04 นำเงินออมออกมาใช้จ่าย ขณะที่ร้อยละ 8.36 ไม่มีการปรับตัว

 

  • แนะรัฐบาลลดค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้านเศรษฐกิจว่า รัฐบาลควรปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดราคาน้ำมัน ลดภาษีหรือลดภาระค่าใช้จ่าย ลดดอกเบี้ย เร่งให้มีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ขยายระยะเวลาโครงการคนละครึ่ง เพิ่มราคาสินค้าทางการเกษตร เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19

5) เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 17.58 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยขึ้น อันดับ 2 ร้อยละ 16.56 เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และรูปแบบการประกอบอาชีพ และอันดับ 3 ร้อยละ 14.77 ต้องปรับรูปแบบการเรียนเป็นแบบออนไลน์ 

6) เรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 ร้อยละ 20.25 ลดค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าวัสดุอุปกรณ์ในการศึกษา

อันดับ 2 ร้อยละ 19.67 การเข้าสู่กระบวนการรักษาที่สะดวกและรวดเร็ว 

อันดับ 3 ร้อยละ 16.73 การจัดหาอุปกรณ์ตรวจเชื้อ ATK เครื่องวัดไข้ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์  

อีกทั้งเมื่อถามเกี่ยวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหรือการปรับตัวของสังคมไทย ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 พบว่า ร้อยละ 55.52 คนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ร้อยละ 44.20 ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยมีความพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ และร้อยละ 41.48 เกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้านสังคม มีการเสนอว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรรณรงค์สร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามแนวทางป้องกันโรคโควิด - 19 สนับสนุนหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์

รวมถึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และการมีมาตรการหรือบทลงโทษกับผู้ฝ่าฝืนการกระทำที่ก่อให้เกิดการเเพร่เชื้อโรคโควิด - 19

พม.โพล เผยปชช.อยากให้ภาครัฐช่วยค่าครองชีพอย่างเร่งด่วน

อีกทั้ง ภาครัฐควรมีมาตรการในการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด และการแก้ปัญหาอาชญากรรม สำหรับสังคมไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะครัวเรือนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะส่วนใหญ่ทำงานนอกระบบ ขาดความมั่นคงด้านอาชีพ จึงมักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบในแง่การสูญเสียรายได้ ส่วนด้านสังคมก็ถูกกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่น

กระทรวง พม. มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน โดยการบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 มิติ

อาทิ มิติความเป็นอยู่ รายได้ การศึกษา สุขภาพ และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ รวมถึงที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม หากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 และประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม

สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่  ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่