4 พฤษภาคม "วันนักดับเพลิงสากล" เปิดรายได้ดับเพลิงต่างชาติ vs ไทย ได้เท่าไร?

4 พฤษภาคม "วันนักดับเพลิงสากล" เปิดรายได้ดับเพลิงต่างชาติ vs ไทย ได้เท่าไร?

เนื่องใน "วันนักดับเพลิงสากล" ที่ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ชวนส่องรายได้ "นักดับเพลิง" ทั่วโลก และย้อนมองอาชีพนี้ในประเทศไทยว่าได้ค่าตอบแทนคุ้มค่าเหนื่อยแค่ไหน?

วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันนักดับเพลิงสากล” ซึ่งมีขึ้นเพื่อยกย่องและให้ความสำคัญต่อผู้คนที่เสียสละตนเองต่อการทำงานในอาชีพ “นักดับเพลิง” ซึ่งเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอัคคีภัย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่อง “รายได้นักดับเพลิง” ทั่วโลก และเจาะลึกเงินเดือน “นักดับเพลิงไทย” แต่ละตำแหน่งให้ “ค่าแรง” คุ้มเหนื่อยแค่ไหน?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

4 พฤษภาคม \"วันนักดับเพลิงสากล\" เปิดรายได้ดับเพลิงต่างชาติ vs ไทย ได้เท่าไร?

1. “นักดับเพลิง” ในไทย มีค่าแรงเท่าไร?

จากข้อมูลของทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (เดือนตุลาคม ปี 2561) ชี้แจงเรื่อง “รายละเอียดเกี่ยวกับความรับผิดชอบ คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง และอัตราค่าตอบแทนของพนักงานราชการ” มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนักดับเพลิง มีตำแหน่งหน้าที่-ความรับผิดชอบด้วยกัน 3 ตำแหน่ง ซึ่งมีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 10,430-18,000 บาท แบ่งตามตำแหน่งงานและความรับผิดชอบ ดังนี้

1.1 กลุ่มงานบริหารทั่วไป (มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 18,000 บาทต่อเดือน)

กลุ่มงานบริการทั่วไป มีด้วยกัน 2 ตำแหน่ง คือ

  • พนักงานนโยบายและแผนงาน 

ทำหน้าที่วิเคราะห์ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณการบริหารในแต่ละปี ทำระบบฐานข้อมูลองค์กรและเครือข่ายช่วยเหลือด้านสาธารณภัย เสนองานให้สอดคล้องแม่บท และปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

  • พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ทำหน้าที่รับผิดชอบงานดับเพลิง วิเคราะห์งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ

หมายเหตุ: ทั้งสองตำแหน่งต้องจบปริญญาตรี หรือคุณวุฒิระดับเดียวกัน

1.2 กลุ่มงานเทคนิค (มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 11,280 - 13,800 บาทต่อเดือน)

กลุ่มงานเทคนิค มีตำแหน่ง “พนักงานขับและควบคุมเครื่องจักรกลขนาดเบา”

ทำหน้าที่รับผิดชอบ ขับและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลขนาดเบาได้ถูกต้อง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

สำหรับค่าตอบแทน จะขึ้นอยู่กับวุฒิที่มี และต้องมีประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปี และต้องได้รับอนุญาตให้ขับรถได้ตามกฎหมาย

  • วุฒิปวส. มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 13,800 บาทต่อเดือน 
  • วุฒิปวช. มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 11,280 บาทต่อเดือน
  • หากไม่ได้ผ่านการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษามา จะได้รับค่าตอบแทนอยู่ที่ 11,280 บาท และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 1,500 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด

1.3  กลุ่มงานบริการ (มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 10,430 - 13,800 บาทต่อเดือน)

กลุ่มงานบริการ มีตำแหน่ง "พนักงานประจำสำนักงาน"

ทำหน้าที่รับผิดชอบงานทั่วไป ติดต่อประสานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

สำหรับค่าตอบแทน จะขึ้นอยู่กับวุฒิที่มี ดังนี้

  • วุฒิปวส. มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 13,800 บาทต่อเดือน
  • วุฒิปวท. มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 13,010 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 1,500 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด
  • วุฒิปวช. มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 11,280 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 1,500 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด
  • วุฒิม.6 และม.3 มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ที่ 10,430 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 1,500 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด

2. นักดับเพลิง “ทั่วโลก” ได้ค่าแรงเท่าไร?

จากข้อมูล “รายได้นักดับเพลิงทั่วโลก” ที่ปรากฏบน Salary Expert เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพเพื่อประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้าง มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  • นักดับเพลิงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีรายได้ประมาณ 299,508 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศแคนาดา มีรายได้ประมาณ 229,226 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศสหรัฐ มีรายได้ประมาณ 229,226 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศญี่ปุ่น มีรายได้ประมาณ 210,676 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศออสเตรเลีย มีรายได้ประมาณ 204,066 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศเยอรมนี มีรายได้ประมาณ 192,558 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศสหราชอาณาจักร มีรายได้ประมาณ 175,313 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศไอร์แลนด์ มีรายได้ประมาณ 152,331 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศนิวซีแลนด์ มีรายได้ประมาณ 149,457 บาทต่อเดือน
  • นักดับเพลิงประเทศนอร์เวย์ มีรายได้ประมาณ 135,968 บาทต่อเดือน
  • ส่วน “นักดับเพลิงประเทศไทย” มีรายได้แค่เพียงประมาณ 12,115 บาทต่อเดือน (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

--------------------------------------------

อ้างอิงSalary Expert, Nailbuzz, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, Sanook