“ร้านขายยา” จุดเชื่อม รัฐ - ผู้ป่วย ในวิกฤติ "โควิด-19"

“ร้านขายยา” จุดเชื่อม รัฐ - ผู้ป่วย ในวิกฤติ "โควิด-19"

ช่วงวิกฤติ โควิด-19 "ร้านขายยา" เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในด้านเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ATK ของกลุ่มเสี่ยง และการดูแลผู้ป่วย "โควิด-19" กลุ่มสีเขียว

ก่อน โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข เริ่มให้บริการ ร้านยาใกล้บ้าน เพื่อลดความแออัด ลดการรอคอยในโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน เกิดการระบาดของโควิด-19 ร้านยา มีบทบาทเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากการเป็นจุดบริการให้กับกลุ่มเสี่ยง กระจายยา และรับคำปรึกษาทั้งเรื่องโควิด-19 รวมถึงโรคอื่นๆ ทำให้เภสัชกรชุมชน และประชาชน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ก่อนโควิด-19 เภสัชกรร้านขายยา ให้บริการคนไข้ จะมีการซักประวัติ รวมถึงประเมินอาการผู้ป่วย แต่พอมีโควิด-19 การบริการเปลี่ยนไป ไม่สามารถใกล้ชิดกับผู้ป่วยเพราะต้องรักษาระยะห่าง ดังนั้น งานบริการหลังจากที่มีโควิด-19 จึงทำให้ร้านขายยาระวังตัวมากขึ้น จะต้องไม่เป็นจุดแพร่เชื้อ เกิดมาตรการรักษาระยะห่าง ร้านเล็กๆ บางร้าน อาจต้องป้องกันตนเองไม่ให้ผู้ป่วยเข้าร้าน ลดความเสี่ยงผู้ป่วยด้วย ร้านใหญ่อาจมีอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น เช่น มีฉากกั้นเพื่อลดความเสี่ยง ใส่หน้ากากอนามัย มีเครื่องฟอกอากาศ ระบบระบายอากาศ และ จุดแอลกอฮอล์ เป็นต้น

 

ระบบออนไลน์ เสริมบริการ

“ดร.ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ” ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมชุมชนแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากมีโควิด-19 รูปแบบการบริการที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม มีการให้บริการทางโทรศัพท์มากขึ้นและเริ่มใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในการสื่อสารกับผู้ป่วยที่มารับบริการ เช่น เมื่อร้านยาเป็นหน่วยร่วมบริการช่วงโควิด-19 มีการกระจาย ATK ให้กับประชาชน มีระบบการขึ้นทะเบียนรับ ATK และมีการติดตามผ่านช่องทางไลน์ของที่ร้าน 

 

การให้บริการร้านยามีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างในเชิงบวก บริการรวดเร็วขึ้น สื่อสารกับคนที่รับบริการเร็วขึ้น ทั้งรูปภาพ และ ทางออนไลน์ มีความเปิดกว้าง และเครื่องมือสื่อสารง่าย ดังนั้น การเข้าถึงข้อมูลความรู้ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการรวดเร็ว ถูกต้องมากขึ้น

 

“ร้านขายยา” จุดเชื่อม รัฐ - ผู้ป่วย ในวิกฤติ \"โควิด-19\"

จุดเชื่อม ภาครัฐ - ปชช.

เมื่อ สปสช. ประกาศ ให้ร้านขายยา ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอด สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ เรื่องของ ATK เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยกรองไม่ให้ระบบสาธารณสุขทะลัก หรือ ลดการที่ประชาชนต้องวิ่งหา การเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันเหมือนในช่วงการระบาดแรกๆ ที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน

 

“ตอนนี้ ผู้ป่วยตั้งสติมากขึ้น การที่มีร้านยาในระบบ สปสช. และ ระบบหมอพร้อม ทำให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลที่ร้านขายยาได้ รวมถึงเมื่อตรวจ ATK และติดเชื้อ สามารถรายงานผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องกลับไปที่ระบบสาธารณสุข เป็นสิ่งที่เริ่มเห็นมิติการเปลี่ยนแปลง ร้านยาเองก็เป็นจุดข้อมูลด้านสุขภาพให้กับระบบสาธารณสุขใหญ่ได้มากขึ้น” ดร.ภญ.ศิริรัตน์ กล่าว

 

เมื่อมีโครงการ “เจอ แจก จบ” กลุ่มผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และอาการไม่หนัก ซึ่งข้อมูลจาก สปสช. เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 65 มีร้านยาแจ้งความประสงค์เข้าร่วมให้บริการกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.แล้วจำนวน 462 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 แล้วจำนวน 5,010 ราย บริการ 5,022 ครั้ง

 

“ร้านยามีความเปลี่ยนแปลงมาก และเครื่องมือสื่อสารช่วยในการดูแลคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ร้านยาเอง ก็มีบทบาทที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ โรงพยาบาล ผู้ป่วยได้อย่างพอดี รวมถึง ช่วยตอบคำถามได้เยอะ ในช่วงหลังๆ ร้านยากลายเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนมากขึ้น”

ยาโควิด-เวชภัณฑ์ขายดี

สำหรับเวชภัณฑ์หรือยาที่ขายดีในช่วงโควิด-19 ดร.ภญ.ศิริรัตน์ เผยว่า ช่วงโควิดคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังที่ได้รับยาจากโรงพยาบาล ในโครงการ 30 บาท มีปัญหาในช่วงแรกเพราะกลัวการระบาด ทำให้ไม่ได้ไปรับยาที่โรงพยาบาล ช่วงนั้นทำให้ยาโรคเรื้อรังขายดี ขณะเดียวกัน ในช่วงหลังที่ สปสช. มีนโยบายในการส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทำให้เกิดการชะลอ ด้าน อาหารเสริมลดลงจากการซื้อที่ร้านยา และอาจไปซื้อในรูปแบบออนไลน์แทน เครื่องมือทางการแพทย์ ขายดีขึ้น ช่วงนี้ไม่ขาดตลาด และราคาถูกลง

 

ส่วนยาที่เกี่ยวกับอาการเฉียบพลัน เช่น ท้องร่วง ตาแดง เป็นหวัด ก็ลดลง เพราะประชาชนเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ทานอาหารนอกบ้าน สุขอนามัยดีขึ้น การเป็นหวัดลดลง เพราะทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ยาฆ่าเชื้อลดลงชัดเจน เพราะผู้ป่วยไม่เป็นหวัด คนไข้ไม่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ ยาที่ขายดี จึงเป็นยารักษาโควิดตามอาการ รวมถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ขายดี เช่น ถุงมือ เครื่องมือวัดความดัน เครื่องมือวัดออกซิเจน และ ยาสมุนไพรบางตัว

 

ทั้งนี้ ดร.ภญ.ศิริรัตน์ มองว่าหลังโควิด บทบาทร้านยาจะเปลี่ยนไปมากขึ้น แม้ชีวิตบางส่วนจะกลับมา Normal Life แต่รูปแบบการบริการ จะชัดเจนขึ้น เช่น มีการโทรมาที่ร้านยาก่อนโดยที่ยังไม่ต้องเดินทางมา และหากต้องมาซื้อยา ก็สามารถมารับยาได้ในเวลารวดเร็วขึ้น ด้านผู้ป่วยหากมีข้อซักถาม พบว่า ปัจจุบันผู้ป่วยมีการหาข้อมูลด้านยา รับฟังข้อมูลการใช้ยามากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ตั้งใจฟัง และตั้งสติในการบริหารการทานยามากขึ้น ยาไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น

 

“ร้านขายยา” จุดเชื่อม รัฐ - ผู้ป่วย ในวิกฤติ \"โควิด-19\"

 

คู่มือผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพ

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2565 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 สำหรับการดูแลคุณภาพยาที่ใช้ในโรงพยาบาล ภายใต้ “โครงการประกันคุณภาพยา” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมปรับปรุงรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิตใน GREEN BOOK ให้เป็นปัจจุบัน และตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินโครงการประกันคุณภาพยา โดยสุ่มตัวอย่างยาจากโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศมาตรวจสอบคุณภาพ ด้วยวิธีมาตรฐานสากล รวมจำนวนตัวอย่างยาที่ตรวจวิเคราะห์ไปแล้วกว่า 20,000 ตัวอย่าง โดยครอบคลุมทั้งยาแผนปัจจุบันที่ผลิตในประเทศ ยานำเข้าจากต่างประเทศ ยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) และยาสมุนไพร ซึ่งยาที่เข้ามาตรฐานตามเกณฑ์การคัดเลือกจะได้รับการเผยแพร่ใน GREEN BOOK เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดซื้อยาของหน่วยงานภาครัฐ

 

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า ในปี พ.ศ. 2564-2565 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สำรวจความคิดเห็น ของโรงพยาบาลของรัฐผู้ใช้ข้อมูล GREEN BOOK และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เรื่องเกณฑ์ในการคัดเลือกรายชื่อยาและผู้ผลิตออกจาก GREEN BOOK โดยผลสำรวจ คือ ให้คัดเลือกทะเบียนยาที่ยกเลิกแล้ว หรือรายการยาที่อ้างอิงเกณฑ์และวิธีวิเคราะห์คุณภาพตามตำรายาฉบับก่อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุตำรายา พ.ศ. 2561

 

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2565 จึงได้ปรับปรุงข้อมูลรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิตใน GREEN BOOK ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ข้อมูลมีความทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในปัจจุบัน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความมั่นใจให้แก่โรงพยาบาลที่ใช้ข้อมูลอ้างอิง

 

“นอกจากนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ยกเลิกการพิมพ์หนังสือ GREEN BOOK แต่จะจัดทำในรูปแบบดิจิตอลทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข สามารถสืบค้นได้สะดวก และเข้าถึงง่าย โดยบุคลากรทางการแพทย์และผู้สนใจ สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากแอปพลิเคชัน “GREEN BOOK DMSC” หรืออีกช่องทางที่เว็บไซต์ สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เช่นเดียวกัน” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว