"วันพืชมงคล 2565" เปิดขั้นตอนพระราชพิธีฯ แรกนาขวัญ ลดผู้เข้าร่วมงาน 50%

"วันพืชมงคล 2565" เปิดขั้นตอนพระราชพิธีฯ แรกนาขวัญ ลดผู้เข้าร่วมงาน 50%

"วันพืชมงคล 2565" ปีนี้ตรงกับวันที่ 13 พ.ค. 65 (แต่ละปีจะไม่ตรงกัน) ชวนคนไทยรู้จักขั้นตอนต่างๆ ใน "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" พร้อมมาตรการป้องกันโควิดที่ปีนี้ประกาศลดจำนวนผู้เข้าร่วมลง 50%

หลังจากงดจัดงานไปหลายปี ล่าสุดปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมพร้อมจัดงาน "วันพืชมงคล 2565" และ "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในงานอย่างเคร่งครัด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่องประวัติที่มา ความสำคัญ และขั้นตอนต่างๆ ใน "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" ที่คนไทยควรรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ผู้เป็นกำลังสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

1. เปิดประวัติ "วันพืชมงคล" เริ่มต้นในสมัยสุโขทัย

"พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธฯ

\"วันพืชมงคล 2565\" เปิดขั้นตอนพระราชพิธีฯ แรกนาขวัญ ลดผู้เข้าร่วมงาน 50%

ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จฯ มาแต่จะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน และมอบอาญาสิทธิ์ให้ “เจ้าพระยาจันทกุมาร” เป็นผู้แทนพระองค์

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ผู้แรกนาได้เปลี่ยนเป็น “เจ้าพระยาพลเทพ” คู่กันกับการยืนชิงช้า ถัดมาอีกในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเปลี่ยนกฎระเบียบ คือ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้า ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้แรกนา

อีกทั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากพิธีพราหมณ์ที่สืบต่อกันมาอยู่แล้ว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทางสงฆ์เพิ่มเติม จึงกำเนิด “พระราชพิธีพืชมงคล” เริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้นมา

2. วันพืชมงคล จัดให้มี 2 พระราชพิธีฯ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วย 2 พระราชพิธีหลักๆ คือ พระราชพิธีพืชมงคล และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้

  • พระราชพิธีพืชมงคล : เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ อาทิ ข้าวเปลือกจ้าว, ข้าวเหนียว, ข้างฟ่าง, ข้าวโพด, ถั่ว, งา, เผือก, มัน เพื่อให้พันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัย อุดมสมบูรณ์ มีความเจริญงอกงามดี
  • พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ : เป็นพิธีเริ่มต้นไถนาหว่านเมล็ดข้าว เพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนา ทำไร่ เพาะปลูก ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญเกษตรกร 

3. การเสี่ยงทายผ้านุ่ง และพระโคเสี่ยงทาย

ในพระราชพิธีฯ แต่ละปี จะมีการ "พยากรณ์" ความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของปีนั้นๆ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะเสี่ยงทายจากผ้านุ่งแต่งกาย โดยเลือกหยิบจากผ้าลาย 3 ผืน คือ สี่คืบ, ห้าคืบ, หกคืบ

ช่วงที่สอง เป็นการเสี่ยงทายจากอาหารเลี้ยงพระโค 7 อย่าง คือ ข้าวเปลือก, ข้าวโพด, ถั่วเขียว, งา, เหล้า, น้ำ, หญ้า โดยผลคำทายขึ้นอยู่กับความยาวของผ้าที่สุ่มเลือก และอาหารที่พระโคเลือกกิน มีดังนี้

  • ถ้าหยิบผ้าได้สี่คืบ : น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่
  • ถ้าหยิบได้ผ้าห้าคืบ : น้ำจะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ ผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าหยิบได้ผ้าหกคืบ : น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่
  • ถ้าพระโคกินข้าว,ข้าวโพด : ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกินถั่ว,งา : ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกินน้ำ,หญ้า : น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์
  • ถ้าพระโคกินเหล้า : การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

\"วันพืชมงคล 2565\" เปิดขั้นตอนพระราชพิธีฯ แรกนาขวัญ ลดผู้เข้าร่วมงาน 50%

4. ขั้นตอน "พระราชพิธีฯ แรกนาขวัญ" ปี 2565

  • วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.09 น. 

ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่ "พระยาแรกนา ประจำปี 2565" เป็นประธานใน พิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ เทวดา องค์พระพิรุณทรงนาค พญานาค และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นผู้ดูแล และมีเทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ร่วมในพิธี

  • วันที่ 12 พฤษภาคม 2565

เป็นวันสวดมนต์เริ่มการ “พระราชพิธีพืชมงคล” พระราชพิธีทางสงฆ์ ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ และถือเป็นวันเกษตรกร

  • วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.19 - 08.49 น.

เป็นวัน “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” (วันไถหว่าน) เป็นพิธีพราหมณ์ ประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง 

5. มาตรการป้องกันโควิด-19 ในพระราชพิธีฯ 

สำหรับปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีฯ ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยการ

  • ลดจำนวนผู้เข้าร่วมพระราชพิธีพิธีลง 50% 
  • มีการเว้นระยะห่าง
  • ตรวจคัดกรองโรคในวันงานอย่างเคร่งครัด
  • งดโปรยแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวในพระราชพิธีฯ แต่แจกผ่านการลงทะเบียนในระบบออนไลน์ (ปิดการลงทะเบียนแล้ว ณ วันที่ 8 พ.ค. 2565)
  • ขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีฯ ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19