วิกฤติศรัทธา "ติดลบ" ความเชื่อมั่นทรุด
พิษจาก "ราคาน้ำมัน" ค่าครองชีพที่สูงระดับวิกฤติ ส่งผลให้ "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค" เดือน เม.ย. 2565 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2564
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญสถานการณ์วิกฤติที่แก้ไม่ตกหลายต่อหลายเรื่อง ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ดูผ่อนคลายลง ธุรกิจ การลงทุน เริ่มขยับขยาย ทั่วโลกทยอยเปิดประเทศ ทำให้การเดินทาง การส่งสินค้าระหว่างประเทศ กลับมาอยู่ในวงจรเกือบปกติ
สำหรับประเทศไทย แม้จะเตรียมพร้อมพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อรัฐบาลยังไม่สามารถแก้วิกฤติเฉพาะหน้า ทั้งเรื่องพลังงาน ค่าครองชีพ รวมถึงวิกฤติศรัทธาที่ติดลบลงเรื่อยๆ ยิ่งทำให้การขับเคลื่อนประเทศหลังจากนี้ ตกอยู่ในภาวะยากลำบากและไม่ง่าย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด มีมติขยายการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. สะท้อนถึงวิกฤติพลังงานที่เป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลต้องหาโซลูชันคลายขมวดปม เพื่อแก้ปัญหาให้ดีและรอบคอบ
จริงๆ ต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา แต่เพราะงบประมาณที่มีจำกัด มาตรการที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ รวมถึงปัจจุบัน อาจไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของปัญหาที่ลุกลามเกินเยียวยา กลายเป็นความเชื่องช้าไม่ทันสถานการณ์
ขณะที่ โควิด-19 คลี่คลายลงตามลำดับ กิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มเดินหน้า ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันจากนี้ย่อมเพิ่มขึ้น ที่สำคัญราคาน้ำมันดิบจะผันผวนไปอีกแค่ไหนก็ไม่อาจคาดคะเนได้ ประชาชนระดับกลางถึงล่าง ต้องก้มหน้ารับค่าครองชีพที่แพงทั้งแผ่นดินกันต่อไป
พิษจากราคาน้ำมัน ค่าครองชีพที่สูงระดับวิกฤติ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 2565 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2564 ตามการเปิดเผยของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
สาเหตุสำคัญ คือ ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลศึกสงครามรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนผลิตสินค้า เพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัว ระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งปัจจุบันและอนาคตลดลงฮวบฮาบ
เราเห็นว่า การที่รัฐบาลจะสามารถประคองราคาน้ำมันดีเซลให้ขึ้นช้าได้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในห้วงเวลาแบบนี้ แต่สุดท้ายรัฐบาลควรต้องมีแนวทางหรือมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานอย่างยั่งยืน
เราเชื่อว่ารัฐบาลมีแนวทางนี้อยู่ เพียงแต่การขับเคลื่อนต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว สอดคล้องสถานการณ์โลก และสถานการณ์ในประเทศ การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ นับเป็นจังหวะที่ดีที่รัฐต้องงัดทุกยุทธศาสตร์ ปลุกให้เม็ดเงินสะพัด ดันระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อ
อย่าให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังจนตรอก และกลายเป็น 'เป็ดง่อย' เมื่อนั้นวิกฤติศรัทธาจะยิ่งติดลบมากขึ้น