อาลัย "ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์" นักวิจัย "การศึกษา" ผู้ไม่เคยหยุดเรียนรู้
แวดวงการศึกษาสุดอาลัย "ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์" อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักการศึกษา ที่สร้างคุณูปการให้แก่การศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2565
วันนี้ (15 พ.ค. 65) สมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสผ่านเฟซบุ๊ก สมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - edu cu ขอแสดงความเสียใจและอาลัย ในการจากไปของ ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ (ครุ 2507) ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 22.39 น. ของวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2565 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 76 ปี
ทั้งนี้ "ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์" เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2489
- ปี 2510 ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปี 2516 ครุศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปี 2519 Ph.D. (Higher Education) University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา
"ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์" ได้สร้างคุณูปการให้แก่ การศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะคณะครุศาสตร์ ภาควิชาอุดมศึกษา (ปัจจุบันคือ สาขาวิชาอุดมศึกษา) ศาสตร์ด้านการศึกษาทั่วไป โดยท่านได้วางการวางรากฐานด้านการศึกษาอีกหลายประการ ได้แก่
1) การอุทิศตนเพื่อการวิจัยอย่างต่อเนื่อง การวิเคราะห์ทิศทางการศึกษาท่ามกลางบริบทการปฏิรูปการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการศึกษาไทย
2) การได้รับการยอมรับและยกย่องในวงวิชาการในประเทศ ผลงานวิจัยของอาจารย์ได้รับการอ้างอิงในวงการศึกษาอย่างกว้างขาง โดยเฉพาะศาสตร์ทางด้านการบริหารการศึกษาและศาสตร์ทางด้านอุดมศึกษา
3) การได้รับการยอมรับและยกย่องในวงวิชาการในต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของ SEAMEO Regional Centre for Higher Education and Development (RIHED ) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงทางด้านอุดมศึกษา
4) จริยธรรมและการปฏิบัติตนที่น่ายกย่อง ท่านเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส นำปัญหาในอดีต มาสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ในสังคม
ประวัติด้านการบริหาร
- รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (พ.ศ. 2547 – 2560)
- คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 สมัย (พ.ศ.2536 –2539 , พ.ศ. 2544 –2547)
- คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (พ.ศ. 2550–2558)
- ประธานกรรมการคุรุสภา (พ.ศ. 2556–2558)
- กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2534–2536)
- กรรมการสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (พ.ศ. 2540–2544)
- กรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2539–2545)
- อนุกรรมการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (พ.ศ. 2540–2544)
- ประธานคณะทำงานด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2534–2536)
ที่ปรึกษา
- สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษากรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม (พ.ศ. 2538 –2540)
- วุฒิสภา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการอุดมศึกษา (พ.ศ. 2530–2531)
- ทบวงมหาวิทยาลัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2540–2541)
ผลงานวิชาการ
ตำรา
- ความรู้คู่คุณธรรม
- หลักและพื้นฐานการอุดมศึกษา
- หลักสูตรการศึกษาทั่วไป : หลักการและวิธีดำเนินการ
- จำเป็นต้องปฏิรังสรรค์การศึกษาไทย
- ต้องก้าวให้พ้นจากวังวลเดิม : รวมบทวิจารณ์การศึกษากับสังคมไทย
- ความเป็นผู้นำทางการศึกษา
งานวิจัย
- มหาวิทยาลัยไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 : หลักการและวิธีการดำเนินการ, 2550
- กระบวนทัศน์ใหม่ในการบริหารจัดการอุดมศึกษาของประเทศไทย, 2546
- กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษษของประเทศไทย, 2548
- สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของวิชาการศึกษาทั่วไปในมหาวิทยาลัยไทย, 2549
- การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในระดับบัณฑิตศึกษา, 2543
ความเชี่ยวชาญ
- อุดมศึกษา
- บริหารศึกษา
- หลักสูตรและการสอน
- การศึกษากับการพัฒนาประเทศ
เกียรติคุณที่ได้รับ
- อาจารย์ดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์ของที่ประชุมอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พ.ศ. 2549
- ศิษย์เก่าดีเด่นภาควิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538
- ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ พ.ศ. 2544
- รางวัลผู้เขียนบทความทางการศึกษาดีเด่น โล่รางวัลศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาการศึกษา
ล่าสุด กับการได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 (สาขาการศึกษา) จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ นักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการและเป็นแบบอย่างกับนักวิจัยอื่นต่อไป
ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ นับเป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง จากเป็นผู้มีมุมมอง ติดตาม และวิเคราะห์ทิศทางการศึกษา จากการทำงานวิจัยท่ามกลางบริบทการปฏิรูปการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการศึกษาไทย
ผลงานวิจัยแต่ละเรื่องนำประเด็นการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ๆ มาวิเคราะห์สังเคราะห์ ซึ่งสะท้อนสภาพความเป็นจริง และปัญหาที่เกิดขึ้นของสังคมไทย พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาการศึกษา บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นนักการศึกษาที่มีแนวคิดอนาคตนิยม เป็นผู้ศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา สามารถคาดการณ์ภาพอนาคตของการศึกษา และสังคมที่กำลังก้าวข้ามสังคมนวปทัสถานไปสู่สังคม 5.0 ในยุค disruption
อาจารย์ได้เสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการเตรียมพร้อมรับการปรับตัวของนักการศึกษา นักเรียน นิสิตนักศึกษา และบุคคลที่เกี่ยวข้องผ่านหนังสือ ตำรา เอกสารวิชาการที่ผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดนิ่ง
อ้างอิง : ประชาสัมพันธ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง , คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย