สื่อสารอย่างไร ไม่ให้สูญเสีย ซ้ำรอยเหตุที่โรงเรียนสตรีพัทลุง
กรณีการสูญเสียเด็กนักเรียนหญิงวัย 14 ปี โรงเรียนสตรีพัทลุง ควรเป็นการเรียนรู้ของสังคม เพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ สิ่งสำคัญ “อย่าล่าแม่มด” “อย่าพิพากษาใคร” และสื่อสารโดยใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกฝ่ายตรงข้าม สื่อต้องระวังการนำเสนอ 2 เรื่อง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กรณีการสูญเสียนักเรียนหญิงโรงเรียนสตรีพัทลุงว่า เป็นการสูญเสียที่น่าเสียใจและน่าเป็นห่วงความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในกลุ่มเพื่อนสนิทของเด็กถ้าจากข้อมูลของเนื้อข่าวดูเหมือนว่ามีความใกล้ชิดและได้พยายามช่วยเหลือดูแลกันระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ความทุกข์ ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธและยอมรับสถานการณ์ไม่ได้ จะมีโอกาสเกิดขึ้นในจิตใจของกลุ่มเพื่อนๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของการสูญเสีย ในการดูแลเด็กๆกลุ่มนี้ที่สำคัญมาก คือ การได้มีผู้ที่คอยรับฟังความรู้สึกติดค้างในใจและความทุกข์อื่นๆที่เกิดขึ้น ซึ่งสมาชิกครอบครัว ผู้ใกล้ชิดหรือกลุ่มเพื่อนๆจะมีบทบาทืสำคัญในการช่วยดูแลความรู้สึกได้มากที่สุด
“เหตุนี้เป็นสิ่งสะเทือนใจสูงมาก ไม่ใช่การสูญเสียปกติที่เป็นไปตามธรรมชาติ จึงเป็นไปได้ที่หลายๆคนอาจจะต้องการความช่วยเหลือ ดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์หรือทีมสุขภาพจิตเข้าไปช่วยดูแลปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา เช่น ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธที่มากๆ หรืออารมณ์ด้านลบอื่นใดที่เกิดขึ้นมาก รวมถึง ปัญหาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ การคิดวนเวียน การเกิดภาพติดตาที่มีเหตุการณ์บางเรื่องที่ชวนให้สะเทือนใจ ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพร้อมลงไปช่วยเหลือ โดยได้มอบหมายให้ทีมสุขภาพจิต ของรพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตทื่ 12 ประสานรพ.พัทลุง ติดต่อถึงโรงเรียน เพื่อที่จะพยายามเข้าไปดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด”พญ.อัมพรกล่าว
อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มคุณครู เนื่องจากด้วยสถานการณ์มีการพาดพิงถึงอย่างมาก ดูเหมือนว่าเกี่ยวข้องอยู่ในบริบทพอสมควร เป็นสภาพจิตใจที่น่าจะเกิดทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกด้านลบอื่นๆรวมถึงความสับสน ถ้าหากโรงเรียนมีความต้องการให้ทีมสุขภาพจิต เข้าไปช่วยดูแลก็มีความพร้อมและพยายามติดต่อโรงเรียนอยู่ด้วย
“เรื่องความเข้าใจระหว่างกันของครูและนักเรียน ในการที่จะทำให้การสูญเสียครั้งนี้ เป็นบาดแผลทางใจที่น้อยที่สุดของทุกฝ่าย และเกิดความเข้าใจเพื่อที่จะนำไปสู่การช่วยกันดูแลเด็กๆให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมาก” พญ.อัมพรกล่าว
ในการดูแลกลุ่มเพื่อนๆที่ใกล้ชิดมากๆ พญ.อัมพร แนะนำว่า ที่สำคัญต้องอยู่ใกล้ชิด เพื่อรับฟังความรู้สึก และเป็นการรับฟังที่พยายามทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด พยายามระมัดระวังการที่เด็กจะได้รับข้อมูลเชิงลบจากสื่อต่างๆ และปัจจุบันสิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ สังคมโซเชียลมีเดียที่อาจจะไปเติมความคิด ที่บางครั้งชักนำเด็กไปในทิศทางลบได้มากยิ่งขึ้น เจ็บปวดมากขึ้น วิธีการสังเกต จะต้องดูอารมณ์ด้านลบที่ถ่ายทอดออกมา การบ่นถึงความทุกข์ความเศร้าอยู่ในระดับที่รบกวนชีวิตประจำวันหรือไม่ กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับหรือไม่ ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ อาจจะมีการร้องไห้ คิดวนเวียน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัว แต่ถ้ารบกวนการใช้ชีวิตเกินไปอาจจะต้องอาศัยยา หรือใช้กระบวนทางจิตวิทยา การบำบัดทางจิตใจ เข้าไปช่วยเหลือ
“สัญญาณที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น ความโกรธมากๆ ถึงขั้นคิดร้ายต่อตนเองหรือผู้อื่น แสดงออกถึงความก้าวร้าวหรือเสียใจมากๆ ต้องให้ความใส่ใจ และเรื่องของการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เลย ตกอยู่แต่ในความคิดเรื่องนี้เท่านั้น ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล”พญ.อัมพรกล่าว
สำหรับ กลไกการดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนในโรงเรียน พญ.อัมพร บอกว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ทุ่มเทเพื่อดูแลสุขภาพจิตนักเรียนเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน สามารถพัฒนาได้ดีมากขึ้นเรี่อยๆ แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องอีก ที่ผ่านมามีระบบการดูแลช่วยเหลือตั้งแต่การประเมินเด็กว่าใครอยู่ในภาวะที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่สมควรต้องได้รับการรักษา และส่งต่อไปพบแพทย์ทันที ระบบเหล่านี้มั่นใจว่าศธ.ได้พัฒนาและเกิดขึ้นแล้ว แต่รายละเอียดในการเข้าถึงตัวเด็กและเรียนรู้เข้าใจความรู้สึกของเด็กได้ใกล้ชิดหรือทันท่วงทีเพียงพอ อาจจะมีสิ่งที่ต้องปรับ
สิ่งที่จะเป็นประโยชน์มากขึ้น ถ้าหากกลุ่มเพื่อนหรือคุณครูที่อยู่รายรอบได้ช่วยกันมองหาทางออกเชิงสร้างสรรค์ โดยจะต้องมีการปรึษาหารือกัน จะทำให้รู้ว่าผู้ที่อยู่ในภาวะย่ำแย่อยู่ในความเสี่ยงสูงมากแล้ว บางครั้งการที่เห็นใจและเห็นด้วยกับความรู้สึกขัดแย้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ถ้าพยายามหาทางออกด้วยการปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์ว่าจะเข้าไปช่วยเหลือกันอย่างไร ให้ทันท่วงที ก็อาจจะมีโอกาสในการที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น เด็กแต่ละคนที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ ก็อาจจะมีพื้นฐานความสุ่มเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน บางรายอาจจะมีความเปราะบางสูงมาก จนเพียงเสี้ยววินาทีเดียว หรือช่วงเวลาสั้นๆก็เกิดการสูญเสียที่รุนแรง จากพื้นฐานที่เปราะบางสูง ขณะที่เด็กที่มีความแข็งแกร่งมากกว่า หรือ มีความลงตัวของสิ่งแวดล้อมบางด้านมากกว่า ปัญหาเดียวกันกลับไม่ทำให้ต้องจากไป
“เรื่องหนึ่งที่ต้องระวังมากๆในสังคมยุคปัจจุบันนี้ คือการพิพากษาโดยสังคม บางครั้งการสูญเสียชีวิตเด็กไปด้วยความทุกข์ในชีวิตเกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะต้องสูญเสียอะไรมากไปกว่านั้น เพราะความเกรี้ยวกราดของสังคม ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น และขอให้การสูญเสียเป็นบทเรียนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียที่มากไปกว่านี้ อยากร้องขอว่าอย่าได้ล่าแม่มดเลย เพราะไม่มีใครอยากให้เรื่องสูญเสียเกิดขึ้น และคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าสังคมจะพูดอย่างไรก็เจ็บปวดมากสาหัสอยู่แล้ว อย่าใช้กระแสสังคมล่าแม่มดแล้วทำร้ายใครไปมากกว่านี้ ”พญ.อัมพรกล่าว
พญ.อัมพร แนะนำถึงการสื่อสารเพื่อป้องกันเหตุความสูญเสียว่า โดยหลักการสื่อสารที่ดีจะต้องรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่สื่อสารด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังของการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียหรือการสื่อสารที่ไม่ได้เห็นหน้าตากัน ไม่สามารถสังเกต "อวจภาษา"หรือภาษากายได้ โดยคำพูดเดียวกัน เมื่อเห็นหน้าและไม่เห็นหน้าขณะคุยกัน ผลลัพ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง
สมมติบอกว่า “เรื่องนี้แย่แล้ว”แต่ได้กอดกัน ได้ส่งสายตาแสดงความห่วงใย อาจจะเป็นการช่วยเหลือ เป็นความห่วงใย แต่ถ้าไม่ได้เห็นหน้าตา หรือเป็นการส่งข้อความเฉยๆ อาจจะเป็นการซ้ำเติม ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ากำลังตำหนิตัวเองก็ได้ เป็นข้อจำกัดมากๆ
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่เปิดใจและพร้อมรับฟัง สะท้อนถึงความเห็นใจ เข้าใจปัญหาของนักเรียน รวมถึง การช่วยให้เด็กสามารถมีสติในการดูแลอารมณ์และความทุกข์ของตัวเองได้ จะมองทางเลือกการตัดสินใจในทางบวกได้ แต่ถ้าอยู่ในอารมณ์ด้านลบและความทุกข์มากๆ ตัวเลือกต่างๆอาจจะดูเหมือนเป็นตัวเลือกที่เป็นปัญหาไปหมด เพราะฉะนั้น การใส่ใจในอารมณ์ความรู้สึก จึงเป็นหัวใจสำคัญข้อแรกๆของการสื่อสารรับฟัง
“กว่าที่จะเติบโตขึ้นมามีปัญหามากมายให้เราได้เรียนรู้ และเอาชนะก้าวข้ามไปให้ได้ นักเรียนที่อยู่ในภาวะอารมณ์ที่กดดันมากๆ บางครั้งอาจจะต้องเลือกหาทางถอยหรือวางปัญหานิ่งๆ และหาผู้รับฟังและให้มุมมองที่แตกต่างหลากลายในทางที่สร้างสรรค์ เมื่ออารมณ์ผ่อนคลายลงอาจจะเปิดใจรับฟังคำแนะนำ และเลือกตัดสินใจด้วยวิธีการที่ดีขึ้น การที่กลุ่มเพื่อนเป็นผู้รับฟังที่ดี ก็จะมีคุณค่าในการช่วยผู้ที่อยู่ในความทุกข์ได้เป็นอย่างมาก แต่หากไม่สะดวกใจที่จะเล่าให้คนใกล้ชิดฟัง สามารถโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323ได้ หรือแม้แต่คุณครูซึ่งในโรงเรียนมีหลากหลายท่าน บางครั้งอาจจะไม่รู้สึกพร้อมหรือสะดวกคุยกับได้ทุกคน แต่ละคนอาจจะมีความลงตัวที่จะคุยกับเด็กคนนี้แล้วลงตัว แต่บางคนไม่ใช่ จริงๆแล้วชีวิตเรามีทางเลือก ควรให้โอกาสให้ทางเลือกกับตัวเองให้มากที่สุด”พญ.อัมพรกล่าว
กรณีการนำเสนอของสื่อ พญ.อัมพร กล่าวว่า มี 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ประเด็นความเป็ฯส่วนตัวของผู้สูญเสีย บางครั้งการลงรายละเอียดมากมายหลากหลาย นึกถึงความรู้สึกของผู้จากไปด้วยความเจ็บปวด อาจจะเจ็บปวดยิ่งขึ้น ที่ชีวิตถุกลุกล้ำความเป็นส่วนตัว และญาติ เพื่อนฝูงถูกลุกล้ำไปหมด เป็นสิ่งที่สื่อต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
และ2.การบรรยายรูปแบบของการทำร้ายตัวเอง ซึ่งการบรรยายในลักษณะที่ใส่อารมณ์ลงไปด้วย จะมีผลสร้างความสะเทือนใจให้กับสังคม สร้างอารมณ์โกรธ ทุกข์ เศร้าให้กับสังคม ในกลุ่มคนที่ค่อนข้างแข็งแรง คงเสียใจอยู่ระยะหนึ่ง แต่กลุ่มเปราะบาง ที่มีความทุกข์ ความเศร้าอยู่แล้วหรือกำลังคิดถึงการทำร้ายตัวเองหรือการจากไปอยู่แล้ว อาจจะทำให้เกิดการชี้นำและทำให้เกิดการเลียนแบบขึ้นมาได้ ยิ่งเป็นในกลุ่มวัยรุ่นที่มีความเปราะบางทางอารมณ์ มีความหวือหวา เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หุนหันพลันแล่นได้ง่าย และเลียนแบบกันเองได้ง่าย เพราะฉะนั้น ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ